สิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีอยู่มากมายนับเป็นจำนวนล้านชนิด
และไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ
จึงจำเป็นที่ต้องจัดแบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่
เพื่อความสะดวกที่จะนำมาศึกษา และนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ
การศึกษาเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิตเรียกว่า อนุกรมวิธาน
(TAXONOMY)
หลักเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้ใน
การพิจารณาการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น หมวดหมู่ สรุปได้ดังนี้
1. พิจารณาเปรียบเทียบลักษณะทั้งภายในและภายนอกของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง
ๆ ว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด
2. พิจารณาโดยอาศัยหลักการทางวิวัฒนาการที่ว่า
สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
ที่มาจากบรรพบุรุษร่วมกันย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันทั้งสิ้น
3. พิจารณาจากแบบแผนการเจริญของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่แรก
โดยอาศัยหลักที่ว่าสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กันมากเพียงใด
ก็ย่อมจะมีวิธีการเจริญคล้ายกันมากเพียงนั้น
4. พิจารณาถึงขบวนการทางชีวเคมี และสรีรวิทยาของสิ่งมีชีวิตว่า
มีความเกี่ยวข้องหรือคล้ายกันอย่างไร
รวมทั้งศึกษาถึงการถ่ายทอดกรรมพันธุ์
5. พิจารณาถึงพฤติกรรมความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ตลอดจนแพร่กระจายทางภูมิศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ด้วย
การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้จัดจำแนกสิ่งมีชีวิต ออกเป็น 5
อาณาจักร (Kingdom) โดยอาศัยแนวคิดของวิตเทเกอร์ (Whitaker, 1969) คือ
1. อาณาจักรโมเนรา (Kingdom Monera)
ได้แก่สิ่งมีชีวิตพวกโพรคาริโอต เช่น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (BLUE -
GREEN ALGAE) และแบคทีเรีย
2. อาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista) ได้แก่ สิ่งมีชีวิตพวก
ยูคาริโอต ส่วนมากเป็นเซลล์เดียว มีทั้งพวกออโตโทรฟและเฮเทอโรโทรฟ ได้แก่
สาหร่าย (ALGAE) ราเมือก (SLIME MOLD) และโพรโตซัว (PROTOZOA)
3. อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi) ได้แก่
สิ่งมีชีวิตพวกยูคาริโอต ส่วนมากมีหลายเซลล์
เซลล์ยังไม่มีดิฟเฟอเรนติเอชัน ไม่สามารถสร้างอาหาร
ด้วยตัวเองส่วนใหญ่เป็นพวกย่อยสลายดูดอินทรีย์สาร
จากสิ่งมีชีวิตที่ไปขึ้นอยู่ สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้ได้แก่ รา
เห็ดต่างๆ
4. อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae) ได้แก่
สิ่งมีชีวิตพวกยูคาริโอตมีหลายเซลล์
และเซลล์มีดิฟเฟอร์เรนติเอชันไปทำหน้าที่เฉพาะอย่างแบบถาวร
มีคลอโรฟิลล์จึงสามารถสังเคราะห์อาหารเองได้ สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้
ได้แก่ พืชทั้งหลาย
5. อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) ได้แก่
สิ่งมีชีวิตพวกยูคาริโอต มีหลายเซลล์
และมีดิฟเฟอเรนติเอชันไปทำหน้าที่เฉพาะอย่างแบบถาวร
ไม่มีคลอโรฟีลล์จึงสังเคราะห์อาหารไม่ได้ ได้แก่สัตว์ทั้งหลาย
1. อาณาจักรโมเนรา
สิ่งมีชีวิตอยู่ในอาณาจักรนี้ทั้งหมดเป็นพวกโพรคาริโอต
สิ่งมีชีวิตพวกนี้พบได้ทั่วไปและดำรงชีวิตได้หลายรูปแบบ อาณาจักรโมเนรา
แบ่งออกเป็น 2 ดิวิชัน คือ
1 .ดิวิชันไซแอโนไฟตา (Division Cyanophyta) ได้แก่
สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
2. ดิวิชันชิโซไฟตา (Division Schizophyta) ได้แก่ แบคทีเรีย
ก.สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน
เซลล์ของสาหร่ายชนิดนี้มีรงควัตถุ พวกคลอโรฟิลล์เอ แซนโทฟิลล์
ไฟโคบิลิน ได้แก่ ซี - ไฟโคไซแอนิน (C - Phycocyanin) รงควัตถุสีน้ำเงิน
และ ซี - ไฟโคอิริทริน (C - Phycoerythin) รงควัตถุสีแดง
รงควัตถุเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไปในไซโทพลาซึม แต่ไม่พบในพลาสติด
สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสามารถตรึงไนโตรเจนได้
ปัจจุบันจึงนิยมปล่อยให้สาหร่ายชนิดนี้เจริญในนาข้าว
เพื่อเป็นการเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนตามธรรมชาติ
สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ
1. การเรียงตัวของเซลล์ อาจเป็นเซลล์เดียว , กลุ่ม หรือ
เซลล์ต่อกันเป็นสาย มักมีเมือกหุ้ม
2. วิธีการสืบพันธุ์ ปกติจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
3. การสร้างเซลล์พิเศษขึ้นในสาย ได้แก่ เอกโซสปอร์ (EXOSPORE)
อะคินีต (AKINETE) เฮเทอโรซีสต์ (HETEROCYST) และเดดเซลล์ (DEAD CELL)
ซึ่งมีการสร้างแตกต่างกันบางชนิด เช่น อะคินีท
สามารถทนทานต่อสภาวะไม่เหมาะกับการเจริญได้ เพราะมีผนังหนา และมีอาหาร
สะสมอยู่ในเซลล์มาก เฮเทอโรซีสต์ ทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนได้
ข. แบคทีเรีย
แบคทีเรียมีผนังเซลล์ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต และกรดอะมิโน
บางชนิดสามารถสังเคราะห์แสงได้อาศัยแบคทีริโอคลอโรฟิลล์
ซึ่งมีหน้าที่เหมือนคลอโรฟิลล์ของพืช
แต่มีโครงสร้างทางเคมีและกระบวนการสังเคราะห์อาหารต่างจากพืช
การจัดจำแนกแบคทีเรียในปัจจุบัน พิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1. ชนิดของพลังงานที่แบคทีเรียใช้ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
ก. แบคทีเรียที่ใช้พลังงานแสง
ข. แบคทีเรียที่ใช้พลังงานที่ได้จากปฏิกิริยาเคมี
2. วิธีการเคลื่อนที่ บางกลุ่มไม่เคลื่อนที่
บางกลุ่มเคลื่อนที่ โดยการลื่นไถล บางกลุ่มเคลื่อนที่โดยใช้แฟลเจลลัม
3. รูปร่าง แบ่งได้ 3 แบบ
ก. รูปร่างแบบแท่ง ได้แก่ พวกบาซิลลัส (BACILLUS)
ข. รูปร่างแบบกลมหรือรี ได้แก่ ค็อกคัส (COCCUS)
ค. รูปร่างแบบแท่งแต่โค้งงอ มี 3 ประการ
- พวกที่โค้งงอและเซลล์จะคงรูปไม่เปลี่ยนแปลง (SPIRILLUM)
- พวกที่โค้งงอแต่เซลล์ยืดหยุ่นได้ไม่คงรูปแบบเดิม (SPIROCHETE)
- และพวกที่โค้งคล้ายจุดลูกน้ำ (COMMA)
4. การเรียงตัวของเซลล์แบคทีเรีย
ก. การเรียงเซลล์ต่อกันเป็นสาย ได้แก่ SPHAEROTILUS
ข. การเรียงเซลล์ของพวก ค็อกคัส บางชนิดมีแบบแผนแน่นอน
พอที่ใช้เป็นลักษณะประจำจีนัสได้ เช่น อยู่เป็นเซลล์เดี่ยว ได้แก่
MICROCOCCUS , เซลล์เรียงกันเป็นคู่ ได้แก่ DIPLOCOCCUS ,
เซลล์เรียงต่อกันเป็นสาย ได้แก่ STREPTOCOCCUS , เซลล์เรียงเป็นกลุ่มของ
8 ได้แก่ SARCINA เซลล์เรียงกันเป็นกลุ่ม
รูปร่างไม่แน่นอนและจำนวนเซลล์ไม่จำกัด ได้แก่ STAPHYLOCOCCUS
5. ลักษณะการติดสีแกรม (GRAM STAIN) คริสเตียนแกรม (CHRISTIAN
GRAM) พบว่าเมื่อยอมสีเซลล์แบคทีเรีย แบคทีเรียบางพวกติดสีม่วงน้ำเงิน
เรียกว่า พวกแกรมบวก บางชนิดติดสีแดง เรียกว่า แกรมลบ พวกค็อกคัสส่วนใหญ่
เป็นแกรมบวก พวกรูปร่างแบบแท่งส่วนใหญ่เป็นแกรมลบ
6. ความต้องการออกซิเจนเพื่อการเจริญ บางชนิดต้องการออกซิเจน
บางชนิดไม่ต้องการ
7. การสร้างเอนโดสปอร์ เมื่อแบคทีเรียอยู่ในสภาพแวดล้อม
ไม่เหมาะสมสามารถสร้าง เอนโดสปอร์ (ENDOSPORE)
ขึ้นภายในเซลล์เอนโดสปอร์ของแบคทีเรียจึงไม่ได้ช่วยในการขยายพันธุ์
แต่สร้างขึ้นเพื่อให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมเท่านั้น
2. อาณาจักรโพรทิสตา
เป็นพวกยูคาริโอต มีโครงสร้างเป็นเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์
ซึ่งดำรงชีวิตแบบออโตโทรฟ หรือ เฮเทอโรโทรฟ
การจัดจำแนกโปรติสต์ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
1.สาหร่าย
2.ราเมือก
3.โพรโทซัว
ก. สาหร่าย ส่วนมากสาหร่ายสังเคราะห์อาหารเองได้
ภายในเซลล์นอกจากมีรงควัตถุคลอโรฟิลล์เอ แล้วยังมีรงควัตถุอื่น ๆ
ซึ่งรวมอยู่ในพลาสติด
สาหร่ายมีลักษณะแตกต่างจากพืชที่สำคัญ 2 ประการ
1.โครงสร้างที่ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ ยังคงเป็นเซลล์เดี่ยว
2.หลังจากปฏิสนธิแล้ว ไซโกตของสาหร่ายทุกชนิดจะเจริญต่อไป
โดยไม่มีระยะที่เป็นเอมบริโอหลายเซลล์ เหมือนพืชชั้นสูง
สาหร่ายจำแนกออกเป็น 7 ดิวิชัน โดยอาศัยหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ชนิดของรงควัตถุ
2. ชนิดอาหารที่เก็บสะสมไว้ในภายในเซลล์
3. ส่วนประกอบทางเคมีของผนังเซลล์
4. ลักษณะและตำแหน่งของแฟลเจลลัม
5. วิธีการสืบพันธุ์
ดิวิชันคลอโรไฟตา (CHLOROPHYTA)
สาหร่ายสีเขียวเป็นดิวิชันที่ใหญ่ที่สุด พบทั้งในน้ำจืด น้ำทะเล น้ำกร่อย
และที่ชื้นแฉะบางชนิดเป็นอิสระลอยอยู่ตามผิวน้ำ
ซึ่งถ้ามีจำนวนมากพอจะทำให้เกิดปรากฏการที่เรียกว่า วอเตอร์บลูม (WATER
BLOOM) ขึ้นได้ สาหร่ายสีเขียวนับว่ามีความสำคัญมาก
และได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่ในน้ำ
ปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์โปรตีนจากสาหร่ายเซล์เดียวหลายชนิดเช่น
SCENEDESMUS และ CHLORELLA ซึ่งมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งโดยตรงและทางอ้อม
รูปร่างและขนาดของสาหร่าย บางชนิดมีขนาดเล็กและเป็นเซลล์เดี่ยว
ได้แก่ คลอเรลลา บางชนิดมีขนาดใหญ่และมีโครงสร้างซับซ้อน ได้แก่ โคเดียม
(CODIUM) พวกที่มีโครงสร้างเป็นเซลล์เดี่ยวมีการเจริญขั้นต่ำสุด
และจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซลล์ไปสู่ความซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ
ดิวิชันยูกลีโนไฟตา (DIVISION EUGLENOPHYTA)
พบในน้ำจืดมากกว่าในน้ำเค็ม แบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกสังเคราะห์อาหารเองได้
และพวกที่สังเคราะห์อาหารเองไม่ได้
รูปร่าง เป็นเซลล์เดี่ยวค่อนข้างยาว
เคลื่อนที่ได้โดยใช้แฟลเจลลัม มีลักษณะที่คล้ายสัตว์
คือไม่มีผนังเซลล์ที่เป็นสารประกอบ พวกเซลล์ลูโลส
ทำให้รูปร่างไม่คงที่ในขณะที่เคลื่อนที่ ได้แก่ ยูกลีนา และฟาคัส
(PHACUS) ถึงแม้จะเป็นพวกสร้างอาหารเองได้
แต่ก็สามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้
ยูกลีนอยด์มีวิธีการสืบพันธุ์เฉพาะแบบไม่อาศัยเพศเท่านั้น
เป็นการแบ่งเซลล์ตามความยาวและเกิดขึ้นในขณะที่เซลล์เคลื่อนที่
ดิวิชันแคโรไฟตา (DIVISION CHAROPHYTA) เช่น CHARA และ NITELLA
มีลักษณะแตกต่างจากสาหร่ายน้ำจืดชนิดอื่น ๆ คือ
มีลักษณะบางอย่างคล้ายพืชชั้นสูงมาก เช่น มีส่วนที่ทำหน้าที่คล้ายลำต้น
มองเห็นข้อและปล้องชัดเจน ตามผนังเซลล์ของสาหร่าย
มีสารประกอบพวกเซลล์ลูโลส และมีพวกแคลเซียมคาร์บอเนตสะสมอยู่มาก
จึงทำให้มีลักษณะแข็งและหยาบสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน เมื่อสาหร่ายตายลง
ซากเหลือที่พบส่วนมาก คือ โอโอโกเนียม (OOGONIUM)
ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศเมีย ลักษณะที่คล้ายพืชชั้นสูงมาก
และแตกต่างจากสาหร่ายทุกชนิด คือ
มีส่วนประกอบของกลุ่มเซลล์ที่เป็นหมันห่อหุ้ม แอนเทอริเดียม
และโอโอโกเนียม
ดิวิชันฟีโอไฟตา (DIVISION PHAEOPHYTA) สาหร่ายสีน้ำตาล
มีรงควัตถุชนิดที่ทำให้เกิดสีน้ำตาล คือ ฟิวโคแซนทิน (FUCOXANTHIN)
ผนังเซลล์มีสารประกอบกรด แอลจินิก (ALGINIC ACID) สะสมอยู่มาก
ขนาดของสาหร่ายสีน้ำตาลแตกต่างกันมาก พวกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ได้แก่
ไจแอนด์เคลพ์ (GIANT KELP) สาหร่ายสีน้ำตาลที่พบมากที่สุด ได้แก่
SARGASSUM และ PADINA และ DICTYOTA
สาหร่ายสีน้ำตาลมีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ
นอกจากใช้เป็นอาหารแล้วพวกเคลพ์ซึ่งมีกรดแอลจินิก
สามารถนำมาสกัดเอากรดนี้ออกมาใช้ประโยชน์ ในการ
อุตสาหกรรมหลายอย่างในรูปสารประกอบแอลจิน (ALGIN) เช่น การทำสี ทำยา
ทำขนมหวานบางชนิด เพราะแอลจินมีลักษณะเหนียว
และมีสมบัติพิเศษช่วยไม่ให้สารตกตะกอนได้ง่ายช่วยไม่ให้น้ำแข็งตัวเมื่อถูกความเย็นจัด
สาหร่ายสีน้ำตาลยังสามารถ นำมาใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติได้
ดิวิชันคริสโซไฟตา (DIVISION CHRYSOPHYTA) เป็นสาหร่าย
ที่มีรงควัตถุฟิวโคแซนทินเหมือนสาหร่ายสีน้ำตาล แต่มีสัดส่วนน้อยกว่า
นอกจากนี้ยังมีรงควัตถุลูเทอินอยู่ด้วย แบ่งเป็น 3 พวก คือ
สาหร่ายสีเขียวแกมเหลือง (YELLOW - GREEN ALGAE) สีน้ำตาลแกมเหลือง
(GOLDEN - BROWN ALGAE) และไดอะตอม (DIATOM) ซึ่งมีมากที่สุด
เซลล์ของไดอะตอมส่วนใหญ่เป็นเซลล์เดี่ยวอยู่เป็นอิสระตามผิวน้ำ
พบทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม
จึงนับว่ามีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ
ผนังเซลล์ของไดอะตอมเป็นสารพวกซิลิคอน
ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งและคงรูปไม่สลายตัวได้ง่าย เมื่อเซลล์ตาย
ซากของไดอะตอมจึงทับถมอยู่มาก และเป็นเวลานานนับเป็นพัน ๆ ปีในท้องทะเล
และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาตามธรรมชาติเกิดขึ้น
ซากของไดอะตอมที่ทับถมอยู่เป็นเวลานานนี้จะกลายเป็นส่วนของพื้นดินเรียกว่า
ไดอะตอมเอเชียสเอิร์ท (DIATOMACEOUS EARTH)
เป็นแหล่งรวมของแร่ธาตุและน้ำมัน
ซึ่งนับว่ามีประโยชน์และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก ประโยชน์ที่ได้รับ
ส่วนใหญ่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการทำยาขัดต่าง ๆ เช่น ยาขัดเครื่องเงิน
ทองเหลือง ยาสีฟัน ใช้ในการฟอกสี เป็นฉนวนและเป็นตัวช่วยกรอง
ดิวิชันไพร์โรไฟตา (DIVISION PYRROPHYTA)
สาหร่ายสีเปลวไฟเป็นสาหร่ายเซลล์เดียวที่มีแฟลเจลลา 2 อัน
โดยมีกัลเลตใกล้ฐานแฟลเจลลา เช่น คริพโตโมแนส (CRYPTOMONAS) และชิโลโมแนส
(CHILOMONAS)
ดิวิชันโรโดไฟตา (DIVISION RHODOPHYTA) สาหร่ายสีแดง
มีทั้งเซลล์เดียวและหลายเซลล์
ส่วนมากอยู่ในน้ำเค็มและอยู่น้ำลึกมากกว่าสาหร่ายสีน้ำตาล
สาหร่ายมีประโยชน์ทางการค้าด้วย เช่น กีลิเดียม (GELIDIUM)
ใช้สกัดเพกตินเพื่อทำวุ้นผง ใช้เตรียมอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ และทำขนม
นอกจากนี้พวกพอร์ไฟรา (PORPHYRA) โรไดมีเนีย (RHODYMENIA) และคอนดรัส
คริพตัส (CHONDRUS-CRIPTUS) ยังใช้เป็นอาหารอีกด้วย
ข. ราเมือก
ดิวิชันมิกโซไฟตา (DIVISION MYXOPHYTA)
ราเมือกเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว รูปร่างคล้ายอะมีบา ไม่มีผนังเซลล์
ราเมือกมีทั้งเป็นปรสิตของไม้ดอก
และหากินเป็นอิสระในบริเวณป่าที่ชื้นอาศัยอยู่ตามใบไม้ร่วง ขอนไม้ผุ
ราเมือกสืบพันธุ์โดยการรวมกลุ่มตรงกลางเพื่อสร้างอับสปอร์
เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม เมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม
สปอร์ภายในอับสปอร์จะเจริญเป็นราเมือกที่มีลักษณะคล้ายอมีบาต่อไป
ค. โพรโทซัว มีทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม ดิน
และในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น หากินเป็นอิสระและเป็นปรสิต
ส่วนมากเป็นเฮเทอโรโทรพ
พวกโพรโทซัวจัดอยู่ในไฟลัมโพรโทซัว แบ่งออกได้ 4 ซับไฟลัม ดังนี้
1. ซับไฟลัมซาร์โคมาสติโกฟอรา (SARCOMASTIGOPHORA)
พวกนี้มีขาเทียมหรือแฟลเจลลา ใช้ในการเคลื่อนที่ ไม่มีสปอร์ ได้แก่
อะมีบา ยูกลีนา วอลวอกซ์ ทริพปาโนโซมา
2. ซับไฟลัมสปอโรซัว (SPOROZOA) ไม่มีซิเลียและแฟลเจลลา
เป็นปรสิตภายในของสัตว์ทั้งหมด เช่น พลาสโมเดียม (PLASMODIUM)
ทำให้เกิดโรคไข้จับสั่น ซาร์โคซีสตีส (SARCOCYSTIS) ในกล้ามเนื้อ
โมโนซีสตีส (MONOCYSTIS) ในอสุจิของไส้เดือนดิน
3. ซับไฟลัมนิโคสปอรา (CNICOSPORA)
ไม่มีซิเลียและแฟลเจลลาส่วนมากเป็นปรสิตในปลา ได้แก่ มิกโซสปอร์ริเดีย
(MYXOSPORIDIA) ในสัตว์มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น
ไมโครสปอริเดีย (MICROSPORIDIA)
4. ซับไฟลัมซิลิโอฟอรา (CILIOPHORA) หรือซิเลียตา (CILIATA)
มีซิเลียบางระยะหรือทุกระยะ พบทั้งในน้ำจืดน้ำเค็ม เช่น พารามีเซียม
(PARAMECIUM) วอร์ติเซลล์ลา (VORTICELLA) ไดโพลดิเนียม (DIPLODINIUM)
3. อาณาจักรเห็ด รา
ดิวิชันไฟโคไฟตา (DIVISION PHYCOPHYTA) เห็ด รา ที่แท้จริง
เห็ด (MUSHROOM) และรา (MOLD) เห็ด และราเหมือนกันตรงที่ต่างก็มีเส้นใย
(HYPHA) เหมือนกัน แต่ต่างกันที่เส้นใยของเห็ด มีการรวมกันเป็นกลุ่มก้อน
ที่เรียกดอกเห็ดและมีรูปร่างต่าง ๆ กัน
ส่วนเส้นใยของราไม่มีการรวมกลุ่มกัน แบ่งออกได้ 4 คลาส ได้แก่
- คลาสไฟโคไมซีตีส (PHYCOMYCETES) : - ราขนมปัง
- คลาสแอสโคไมซีตีส (ASCOMYCETES) : - เพนนิซิลเลียม , เห็ดโคน
- คลาสเบซิดิโอไมซีตีส (BASIDIOMYCETES) : - เห็ดฟาง , เห็ดต่าง ๆ
- คลาสดิวเตอโรไมซีตีส (DEUTEROMYCETES) ; - กลาก , เกลื้อน ,
โรคเท้าเปื่อย
นอกจากนี้ ยังมีราบางชนิด อยู่รวมกับสาหร่ายแบบภาวะเกื้อกูลกัน
เรียกว่า ไลเคนส์ ไลเคนส์มีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่ ลักษณะเป็นแผ่น
คล้ายใบไม้ และลักษณะคล้ายกิ่งไม้
4. อาณาจักรเมตาไฟตา
พืชในอาณาจักรนี้ มีการสืบพันธุ์แบบสลับคือ
มีการสืบพันธุ์ทั้งมีเพศ และไม่มีเพศ พืชในอาณาจักรนี้ แบ่งได้เป็น 2
ดิวิชัน ได้แก่
- ดิวิชัน ไบรออฟไฟตา (BRYOPHYTA) : - มอส
- ดิวิชัน ทราคีโอไฟตา (TRACHEOPHYTA) เป็นพืชที่มีท่อลำเลียง
1. ดิวิชันไบรออฟไฟตา (BRYOPHYTA)
พืชพวกนี้ชอบอยู่ในที่ร่มชื้นและที่ซึ่งมีน้ำฝนช่วยในการเคลื่อนที่ของอสุจิ
ตัวอย่างได้แก่ มอส ลิเวอร์เวิร์ธ , ฮอนเวิร์ธ
2. ดิวิชันทราคีโอไฟตา (TRACHEOPHYTA) แบ่งออกได้เป็น 4 ซับดิวิชันได้แก่
1. ซับดิวิชัน ซิลอพซิดา (PSILOPSIDA) : - พญาไร้ใบ
2. ซับดิวิชัน ไลคอพซิดา (LYCOPSIDA) : - หญ้ารังไก่ , ตีนตุ๊กแก
3. ซับดิวิชัน สพีนอพซิดา (SPHENOPSIDA) หญ้าถอดปล้อง
4. ซับดิวิชัน เทอรอพซิดา (PTEROPSIDA) แบ่งออกเป็น 3 คลาสได้แก่
4.1 คลาสฟิลิซินี (FILICINAE) ได้แก่ ผักแว่น เฟิร์นต่าง ๆ
4.2 คลาสจิมโนสเปอร์มี (GYMNOSPERMAE)
เป็นพืชมีเมล็ดแต่ไม่มีดอก อวัยวะสืบพันธุ์อยู่ในโคน (CONE) ได้แก่พวกสน
ปรง แป๊ะก๊วย
รูปที่ 9.1 เปรียบเทียบลักษณะภายในของลำต้นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (ข้าวโพด)
กับพืชใบเลี้ยงคู่ (ทานตะวัน)
(จากเชาว์ ชิโนรักษ์ และ พรรณี ชิโนรักษ์ .2528.ชีววิทยา " )
รูปที่ 9.2 แสดงข้อแตกต่างของโครงสร้างพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและพืชใบเลี้ยงคู่
(John W. kimball , Biology.1983.p.801)
4.3 คลาสแองจิโอสเปอร์มี (ANGIOSPERMAE) ได้แก่พวกไม้ดอกต่าง ๆ
มีทั้งเมล็ดและดอก เมล็ดเกิดที่ดอกภายในผล แบ่งออกได้เป็น 2 ซับคลาส
ได้แก่
1. ซับคลาสโมโนโค ทีลิโดนี (MONOCOTYLEDONAE) พวกพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
2. ซับคลาสไดโค ทีลิโดนี (DICOTYLIDONAE) เป็นพวกพืชใบเลี้ยงคู่
พืชใบเลี้ยงคู่และพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีข้อแตกต่าง สรุปได้ดังนี้
พืชใบเลี้ยงคู่ พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
1. มีใบเลี้ยงสองใบ 1. มีใบเลี้ยงใบเดียว
2. เส้นใบเป็นร่างแห 2. เส้นใบเรียงแบบขนาน
3. มีระบบรากแก้ว 3. มีระบบรากฝอย
4. กลุ่มเนื้อเยื่อลำเลียงในลำต้นเรียงเป็นวงรอบลำต้น 4.
กลุ่มเนื้อเยื่อลำเลียงในลำต้น กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ
5. มีแคมเบียม และมีการเจริญทางข้าง 5. ส่วนใหญ่ไม่มีแคมเบียม
และไม่มีการเจริญด้านข้าง
6. ส่วนประกอบของดอก (เช่น กลีบดอก กลีบเลี้ยง เกสรตัวผู้) มีจำนวนเป็น 4
- 5 หรือทวีคูณของ 4 - 5 6. ส่วนประกอบของดอกมีจำนวนเป็น 3 หรือทวีคูณของ
3
ตารางสรุปข้อแตกต่างระหว่างจิมโนสเปิร์มและแองจิโอสเปิร์ม
จิมโนสเปิร์ม แองจิโอสเปิร์ม
1. ดอก ไม่มี มีแต่สตรอบิลัส มีดอกซึ่งวิวัฒนาการไปมากกว่าสตรอบิลัส
2. เมล็ด ไม่มีรังไข่ห่อหุ้ม มีรังไข่ห่อหุ้ม
3. การปฏิสนธิ เกิดเพียงครั้งเดียว เกิดปฏิสนธิซ้อน
4. ความยาวของพอลเลนทูบ พอลเลนทูบสั้น เพราะละอองเกสรตัวผู้
ตกใกล้ช่องไมโครไพต์ ของโอวุลมีขนาดเล็ก พอลเลนทูบยาว
เพราะจะต้องเจริญผ่านสไตส์เ ข้าไปหาไมโครไพต์
5. การถ่ายละอองเกสร อาศัยลมเป็นปัจจัยสำคัญเพียงอย่างเดียว อาศัยปัจจัยหลายอย่าง
เช่น นก แมลง ลม คน น้ำ เป็นต้น
6. แกมีโตไฟต์ มีขนาดเล็ก ลดรูปลงมากกว่า จิมโนสเปิร์ม
คือไมโครแกมีโตไฟต์ มีเพียง 3 นิวเคียสและเมกะแกมีโตไฟต์มีเพียง 8
นิวเคลียส
7. เนื้อเยื่อไซเลม มีเซลล์เทรคีตอย่างเดียว มีทั้งเทรคีตและเวสเซลล์
รูปที่ 9.3 ตัวอย่างสาหร่ายสีเขียวบางชนิด
(John W.Kimball,Biology.1983.P.781.)
รูปที่ 9.4 แสดงวัฎจักรชีวิตของพืช พวกสน
(Claude A. Villee, Biology.1972.P.235)
รูปที่ 9.5 วัฎจักรชีวิตของ Obelia กลุ่มของ Obelia
จะแตกหน่อเป็นรูปเมดูสา 2 ชนิด
ชนิดที่หนึ่งจะสร้างอสุจิอีกชนิดจะสร้างไข่ลงในการปฏิสนธิเกิดขึ้นนอกตัวโดยผสมกันในน้ำ
ไซโกตจะพัฒนาเป็น บลาสทูลา (Blastula) แล้วค่อย ๆ
เป็นตัวอ่อนพลานูลาว่ายน้ำเป็นอิสระ แล้วจะยึดเกาะกับผิวที่แข็ง
และพัฒนาเป็นกลุ่มต่อไป
5.อาณาจักรเมทาซัว
สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้มีเยื่อหุ้มเซลล์จริง ๆ
มีไมโทคอนเดรีย ไม่มีพลาสติดและรงควัตถุที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง
รวมทั้งผนังเซลล์ อาณาจักรนี้เป็นสัตว์ทั้งหมด แบ่งได้เป็น 12 ไฟลัม
ดังนี้
1. ไฟลัมพอริเฟอรา (PORIFERA) ฟองน้ำ มีช่องว่างกลางตัวเปิดออก
สู่ภายนอก เนื้อเยื่อไม่รวมกลุ่ม เป็นสัตว์น้ำทั้งหมด เกาะอยู่กับพื้น
2. ไฟลัมซีเลนเทอราตา (COELENTERATA) มีเทนทาเคิล (TENTACLE)
รอบ ๆปากช่องเปิดมีทางเดียวเรียก แกสโทรวาสคิวลาร์ (GASTROVASCULAR
CAVITY) เป็นช่องว่างกลางลำตัวของสัตว์ เช่น ไฮดรา
ช่องนี้ทำหน้าที่เป็นหลอดอาหารและทางลำเลียงสารต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ยังมีโพลิพ (POLYP)
ซึ่งเป็นระยะที่เคลื่อนที่ไม่ได้ของสัตว์ในไฟลัมนี้ และระยะเมดูซา
(MEDUSA) ซึ่งไม่มีก้าน และเคลื่อนที่ได้โดยการว่ายน้ำ ทั้ง 2
ระยะมีเทนทาเคิล ซึ่งมีนีมาโทซีส (NEMATOCYST) มีลักษณะเป็นกระเปาะ
ภายในมีเข็มพิษ ใช้ในการล่าเหยื่อ และป้องกันตัว
2.1 คลาสไฮโดรซัว (HYDROZOA) ได้แก่ ไฮดรา โอบีเลีย
2.2 คลาสสไคโฟซัว (SCYPHOZOA) ได้แก่ แมงกะพรุน
2.3 คลาสแอนโธซัว (ANTHOZOA) ได้แก่ ดอกไม้ทะเล กัลปังหา
3.ไฟลัมทีโนฟอรา (CTENOPHORA)
อยู่ในน้ำเค็มทั้งหมดว่ายน้ำอย่างอิสระ เคลื่อนที่โดยแผงหวี (COMB PLATE)
4.ไฟลัมแพลตีเฮลมินทีส (PLATYHELMINTHES) หนอนตัวแบน
พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวตืด ลำตัวแบน ไม่มีทวารหนัก ไม่มีช่องว่างในตัว
4.1 คลาสเทอเบลลาเรีย (TURBELLARIA)
หนอนตัวแบนที่อาศัยอยู่อย่างอิสระ เอพิเดอร์มิส ไม่มีคิวทิเคิล (CUTICLE)
ซึ่งเป็นสารพวกคิวทินฉาบอยู่ มีระบบย่อยอาหาร
4.2 คลาสทรีมาโทดา (TREMATODA) พยาธิใบไม้ในตับ
มีระบบย่อยอาหาร มีที่ดูด(SUCKER)
4.3 คลาสเซสโตดา (CESTODA) (พยาธิตัวตืด) ไม่มีเอพิเดอร์มีส
และระบบย่อยอาหาร มีคิวติเคิล
5. ไฟลัมนีเมอทิเนีย (NEMERTINIA) มีระบบย่อยอาหารสมบูรณ์ คือ
มีทั้งปากและทวารหนัก ไม่มีช่องว่างในตัว มีระบบลำเลียง มีทั้งสองเพศ
อาจเห็นงวงได้ (PROBOSCIS) ได้แก่ หนอนริบิ้น
6. ไฟลัมแอสเชลล์มินเทส (ASCHELMINTHES) เหมือนหนอน
มีคิวติเคิลและช่องว่างในตัวแบบช่องว่างเทียม แบ่งเป็น 2 คลาส
6.1 คลาสโรติเฟอรา (ROTIFERA) มีขนาดเล็ก
ตรงปลายมีอวัยวะคล้ายล้อ ส่วนมากอยู่ในน้ำจืด
6.2 คลาสนีมาโตดา (NEMATODA) หนอนตัวกลม
ลำตัวยาวเป็นรูปกลมมีทั้งอาศัยอยู่อย่างอิสระและเป็นปรสิต
7. ไฟลัมเอไคโนเดอมาตา (ECHINODERMATA)
ผิวเป็นหนามอยู่ในน้ำเค็มทั้งหมด โคร่งร่างภายในเป็นหินปูน มีสมมาตร 5
ระนาบ มีระบบลำเลียงน้ำ แบ่งเป็น 4 คลาส
7.1 คลาสโฮโลธิวรอยเดีย (HOLOTHUROIDEA)
ลำตัวยาวคลายไส้กรอกโครงร่างลดรูป เป็นออสซิเคิล (OSICLE) เล็ก ๆ
มีสมมาตรแบบไบแลเทอรอล
7.2 คลาสแอสเตอรอยเดีย (ASTEROIDEA) ปลาดาว โดยทั่วไป
มีรูปลักษณะคล้ายจาน มีช่องปากเปิด
7.3 คลาสเอไดนอยเดีย (ECHINOIDEA) เม่นทะเล
และอีแปะทะเลรูปร่างคล้ายลูกโลกหรือจาน ไม่มีแขน
โคร่งร่างภายในหลอมติดกัน มีช่องปากปิด
7.4 คลาสโอพิยูรอยเดีย (OPHIUROIDEA) มีแขนออกจากตัวยาว ช่องปากปิด
8.ไฟลัมไบรโอซัว (BRYOZOA) เอคโตพรอคตา (ECTOPROCTA) ตัวอย่าง
ได้แก่ พลูมาเตลลา ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำเค็มเป็นกลุ่ม ไม่เคลื่อนที่
มีช่องปาก ระบบทางเดินอาหารเป็นรูปตัวยู (U)
รูปที่ 9.6 ตัวอย่างของโพรโทซัว
(John W.Kimball,Biology.1983.P.772.)
รูปที่ 9.7 แสดงสาหร่ายสีน้ำตาลบางชนิด
(Claude A. Villee, Biology.1972.P.207 )
แบบฝึกหัด
1.ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้จัดจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น .............
อาณาจักรได้แก่ อะไรบ้าง
2.การจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตอาศัยหลักแนวคิดของ
3.แบคทีเรียอยู่ร่วมในอาณาจักรเดียวกับ
4.รงควัตถุของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน อยู่ใน
5.จงบอกลักษณะสำคัญของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน มา 2 ข้อ
6.จงอธิบายรูปร่างของแบคทีเรีย แบ่งได้กี่ชนิด อะไรบ้าง
7.แบคทีเรียแกรมบวก ได้แก่พวก
8. แบคทีเรียแกรมลบ ได้แก่
9.เหตุผลในการสร้างเอนโดสปอร์ของแบคทีเรีย
10. จงบอกหลักเกณฑ์ในการจำแนกสาหร่ายออกเป็น 7 ดิวิชัน มา 3 ข้อ
11.วอเตอร์ บลูม ( WATER BLOOM ) คืออะไร
12. จงยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่เป็นทั้งพืชและสัตว์
13. ลักษณะสำคัญของแคโรไฟตาคล้ายพืชชั้นสูงมากและแตกต่างจากสาหร่ายทุกชนิดคือ
14. กรดแอลจินิก พบได้ในสาหร่าย
15. กรดแอลจินิก นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่นอะไรบ้าง บอกมา 3 ข้อ
16. สาหร่ายชนิดใดที่ใช้เป็นอาหาร
17.สารที่สกัดจากสาหร่ายสีแดงนำไปใช้ประโยชน์ใด
18. ราเมือกมีรูปร่างคล้ายสิ่งมีชีวิตใด
19. อบีบาเคลื่อนที่โดยวิธีใด
20. พลาสโมเดียมมีการเคลื่อนที่โดยวิธีใด
21. พารามีเซียมมีการเคลื่อนที่โดยวิธีใด
22. ไลเคนส์เป็นการอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิตใด
23. เห็ดโคนอยู่คลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
24. จงยกตัวอย่างของดิวิชันไบรออฟไฟตา มา 2 ชนิด
25. จงยกตัวอย่างซับดิวิชันซิลอพซิดา
26. จงยกตัวอย่างซับดิวิชันไลคอพซิดา
27. จงยกตัวอย่างซับดิวิชันสฟีนอพซิดา
28. จงยกตัวอย่างซับดิวิชันเทอรอพซิดา
29.หญ้ารังไก่อยู่จำพวกเดียวกับพืชชนิดใด
30. พวกเฟิร์นต่าง ๆ อยู่ในคลาสใด
31. สน ปรง แป๊ะก๊วย อยู่ในคลาสใด
32. พวกไม้ดอกต่าง ๆ อยู่ในคลาสใด
33. จงบอกข้อแตกต่างของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวกับใบเลี้ยงคู่ มา 5 ข้อ
34. จงบอกข้อแตกต่างของจิมโนสเปิร์มกับแองจิโอสเปิร์ม มา 5 ข้อ
35. ฟองน้ำอยู่ในไฟลัม
36. ไฮดราอยู่ในคลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
37. ปะการังอยู่ในคลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
38. พยาธิใบไม้ในตับอยู่ในไฟลัมเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
39. หนอนตัวกลมอยู่ในไฟลัมใด
40. สิ่งมีชีวิตในไฟลัมใดที่มีสมาชิกเป็นสัตว์ทะเลทั้งสิ้น
41. หอยงวงช้างอยู่คลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
42. หอยแครงอยู่คลาสใด
43. หอยทากอยู่คลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
44. สัตว์ในไฟลัมใดที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด
45.จงบอกลักษณะสำคัญของไฟลัมอาร์โทรโปดา
46. แมงมุม แมงป่อง อยู่ในคลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
47. ปู ไรน้ำ อยู่ในคลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
48. ริ้น เรือด เหา แมลงสาบ อยู่ในคลาส
49. จงยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตใน ซับไฟลัม เฮมิคอร์ดาตา
50. จงยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในซับไฟลัม ยูโรคอร์ดาตา
51. จงยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในซับไฟลัม ซีฟาโลคอร์ดาตา
52. ปลาฉลาม ปลากระเบน อยู่ในคลาส
53. ปลาทู ปลาจาระเม็ด อยู่ในคลาส
54. งูดิน อยู่ในคลาสเดียวกับสิ่งมีชีวิตใด
55. เต่า จระเข้ อยู่ในคลาส
56. จงบอกลักษณะสำคัญของคลาสแมมมาเลีย มา 3 ข้อ
57.สิ่งมีชีวิตใดที่ออกลูกเป็นไข่แต่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
58. หมีโคอาลา วอมแบต จัดเป็นสิ่งมีชีวิตพวกเดียวกับ
59. ตัวอย่างสัตว์ที่อยู่ในออร์เดอร์ลาโกมอร์ฟา
60.สิงโตทะเล แมวน้ำ อยู่ในออร์เดอร์เดียวกับสิ่งมีชีวิตใดบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น