2554-07-16

จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน

จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน

โดย อาจารย์พจมาลย์ สกลเกียรติ

วัตถุประสงค์
1. นักศึกษาสามารถอธิบายความหมายและความสำคัญของจิตวิทยาในชีวิตประจำวันได้
2. นักศึกษาสามารถบอกวิธีการใช้จิตวิทยาในชีวิตประจำวันได้
3. นักศึกษาสามารถยกตัวอย่างเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้จิตวิทยาในชีวิตประจำวันได้

คนเราทุกคนที่เกิดมา
ย่อมมีความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น
ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ
เป็นต้นว่า วัย เพศ อาชีพ สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
ลักษณะของขนบธรรมเนียมประเพณี ศีลธรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ
และค่านิยมต่าง ๆ ในโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผลจากการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
อย่างมากมาย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลเสีย
ในด้านผลดีนั้นดูเหมือนว่ามนุษย์ได้รับความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ผลเสียที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงก็คือปัญหาต่าง ๆ
ตามมา และหลายปัญหามีความยุ่งยากและซับซ้อนเกินขอบเขตความสามารถของมนุษย์จะแก้ไขได้
มนุษย์ต้องต่อสู้ ดิ้นรน
เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
ชีวิตคนเราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จมากขึ้น ถ้าสามารถ "เข้าใจ"
เรื่องราวของมนุษย์ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักตนเองก่อนเป็นพื้นฐาน เมื่อรู้จักตนเองแล้ว
หลังจากนั้นก็จะเข้าใจผู้อื่นด้วย คนเราเมื่อเข้าใจกันแล้ว ปัญหาต่าง ๆ
ก็จะไม่เกิดขึ้น มีคนเป็นจำนวนมากที่เข้าใจว่า "จิตวิทยา"
เหมาะสำหรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีอาการทางโรคจิต
โรคประสาท ฯลฯ
แต่ความจริงแล้วบุคคลทั่วไปก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางจิตวิทยา
ทั้งนี้เพราะบุคคลต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของตน
และหากบุคคลปรับตัวไม่ได้ก็จะอยู่ในสังคมอย่างลำบาก
ด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงควรเรียนรู้เรื่องจิตวิทยา
แม้ว่าบางคนที่ยังไม่เคยศึกษาวิชานี้มาก่อน
ก็ต้องเคยใช้หลักการทางจิตวิทยามาแล้วโดยธรรมชาติ
เพราะจิตวิทยาเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่ความสุขในการดำรงชีวิต
ในบทเรียนนี้จะขอกล่าวถึงจิตวิทยาที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
เพื่อจะได้เข้าใจและสามารถนำชีวิตของเราให้ดำเนินไปได้อย่างเฉลียวฉลาด
และยังมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับเราด้วย
หัวข้อดังกล่าวประกอบด้วย
1. ความหมายและความสำคัญของจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน
2. การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
3. การปฏิบัติตนเมื่อมีอารมณ์เครียด
4. วิธีสร้างกำลังใจให้ตนเอง
5. วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง

1. ความหมายและความสำคัญของจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน

"คนเราเกิดมามีชีวิตอยู่กับคน
เรียนรู้ และทำงานร่วมกับคน
ใช้สิ่งต่าง ๆ ในสังคม ร่วมกับคน
มีชีวิตอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะคน ..."

จากคำกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าทุกชีวิตจะต้องอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น
หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าทุกคนต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม คนเราจะต้องดิ้นรนและมีพฤติกรรมต่าง ๆ
ไม่มีสิ้นสุดการกระทำหรือที่เรียกว่าพฤติกรรมนี้เอง
เป็นสิ่งที่สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาทางจิตวิทยา
และศึกษาบุคคลแต่ละคน การกระทำของแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้เพราะคนมีความคิด และแรงจูงใจที่แตกต่างกัน
ดังนั้นจิตวิทยาในชีวิตประจำวัน จึงหมายถึง การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์
เพื่ออธิบาย คาดการณ์ หรือควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์
เพื่อจะได้เข้าใจและสามารถนำชีวิตของเราให้ดำเนินไปได้อย่างเฉลียวฉลาด
และยังมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่นที่อยู่ร่วมกับเราด้วย ถ้าเรามีจิตวิทยาดี
เราย่อมจะเป็นที่พึ่งพาแก่ผู้อื่นได้
และถ้าเรามีความจำเป็นต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
เราก็ย่อมได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีเช่นกัน
จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล ดังต่อไปนี้
1. ช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เช่น
รู้ว่าอะไรเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
มนุษย์เกิดความรู้สึกอย่างไรเมื่อไม่สามารถสนองตอบความต้องการของตนเองได้
และอะไรเป็นแรงผลักดันให้คนแสดงพฤติกรรมต่างกัน
2. ช่วยในการปรับตัวและแก้ปัญหาทางจิตใจของตนเอง เช่น
รู้วิธีรักษาสุขภาพจิตของตนเอง รู้วิธีเอาชนะปมด้อย
วิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และขจัดความวิตกกังวลต่าง ๆ ได้
3. ช่วยให้เกิดการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น
สามารถเข้าใจและรู้จักปรับตัวเองให้เข้ากับผู้อื่น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจิตวิทยามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
เราจึงควรเรียนรู้ และนำหลักจิตวิทยามาใช้
เพื่อชีวิตของเราจะมีความสุขและประสบความสำเร็จมากขึ้น
ในทางจิตวิทยาถือว่าผู้ที่สามารถใช้จิตวิทยาในการดำเนินชีวิต
ควรมีลักษณะดังนี้

1. สนใจและเข้าใจในความคิด ความรู้สึกของคนรอบข้าง
2. รับรู้และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้อื่นได้ดี
3. รู้ เข้าใจศักยภาพและส่งเสริมความรู้ความสามารถของผู้อื่นได้อย่างถูกทาง
4. มีความจริงใจต่อกัน เพราะความจริงใจเป็นรากฐานของความผูกพันที่ลึกซึ้ง

2. การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
คนที่มีความสุข คือคนที่มีความสมหวัง
เป็นคนที่สามารถประกอบกิจการงานประสบความสำเร็จตามความปรารถนา
มีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัวหรือวิตกกังวล
มีอารมณ์มั่นคง มีความอดทนและมีความสามารถต่อสู้อุปสรรคต่าง ๆ ได้
เป็นคนที่ยอมรับความจริงในชีวิต ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
กล่าวโดยสรุป คนที่มีความสุขก็คือ
คนที่มีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
เป็นคนที่สามารถปรับตัวได้อย่างดีในการดำรงชีวิตประจำวัน
ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เป็นการมองชีวิต มองตัวเอง
และมองผู้อื่น ดังนั้นความสุขจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกชั้นไม่ว่า ผู้ดี
มั่งมี หรือยากจน
แนวความคิดทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
อาจกล่าวสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ
1. พยายามรักษาสุขภาพทางกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า
สุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิตมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด
คนที่มีร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ย่อมมีจิตใจร่าเริง สนุกสนาน
ตรงกันข้ามกับคนที่ไม่แข็งแรง ย่อมเจ็บป่วยเสมอ ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด
รำคาญใจ ดังนั้นเราจึงควรรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์
มีการพักผ่อนเพียงพอ รักษาความสะอาดของร่างกายและเครื่องใช้
ตลอดจนหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ
2. รู้จักตนเองอย่างแท้จริง
ควรสำรวจตัวเองว่า เป็นคนอย่างไร มีความสามารถทางใด แค่ไหน
มีความสนใจและต้องการสิ่งใด มีอะไรเป็นข้อดีและข้อเสีย
พยายามทางแก้ไขข้อบกพร้องและส่งเสริมส่วนที่ดี
จะทำให้เราตั้งเป้าหมายของชีวิตได้เหมาะสมกับความเป็นจริง
ตลอดจนมีโอกาสพบกับความสำเร็จและความสมหวังได้มาก

3. จงเป็นผู้มีความหวัง
เราควรตั้งความหวังไว้เสมอ แม้เวลาที่ตกต่ำก็อย่าทอดอาลัย
จงคิดหวังเสมอว่าเราจะไม่อยู่ในสภาพเช่นนี้ตลอดไป
สักวันหนึ่งเราอาจจะดีขึ้นได้
4. ต้องกล้าเผชิญกับความกลัวและความกังวลใจต่าง ๆ
ในชีวิตของเรานี้มีสิ่งต่าง ๆ มากมาย
ที่ทำให้กลัวเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ดังนั้น
เมื่อรู้สึกกลัวอะไรต้องพยายามค้นหาความจริงว่าสิ่งนั้นคืออะไร
อย่าปล่อยจิตใจให้หวาดกลัวโดยไม่มีเหตุผล
5. ไม่ควรเก็บกดอารมณ์ที่ตึงเครียด
ควรหาทางระบายอารมณ์ที่ขุ่นมัวหรือไม่สบายใจ
โดยหาทางออกในสิ่งที่สังคมยอมรับและเป็นไปในทางที่พึงปรารถนา
6. จงเป็นผู้มีอารมณ์ขัน
การมีอารมณ์ขันช่วยให้มีอารมณ์ผ่อนคลาย
ไม่ควรมองการไกลในแง่เอาเป็นเอาตายมากเกินไป
7. การยอมรับข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของตนเอง
การรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง
จะช่วยให้เรายอมรับข้อบกพร่อง หรือความผิดพลาดของตนเอง
และให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่นได้
8. ต้องรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนทำอยู่
การรู้จักพอใจในงานหรือสิ่งที่ตนทำอยู่
จะทำให้บุคคลนั้นเกิดอารมณ์สนุก ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ทำให้ชีวิตน่าสนใจ
มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีกำลังใจเข้มแข็งในการต่อสู้อุปสรรคต่าง
ๆ มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ทำให้ชีวิตมีความสุขและสดชื่นอยู่เสมอ
9. มีความต้องการพอเหมาะพอควรและมีความยืดหยุ่นได้
ต้องมีเหตุผล รู้จักความพอดีเกี่ยวกับความต้องการ ความปรารถนา
ความทะเยอทะยาน
ควรมีความคิดใฝ่ฝันที่ใกล้เคียงกับความสามารถและความเป็นจริง
จะช่วยให้เราวางแผนต่าง ๆ ไว้เป็นระยะ ๆ
เพื่อประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้
10. อย่าพะวงเกี่ยวกับตนเองมากเกินไปหรืออย่าคิดถึงแต่ตัวเองตลอดเวลา
เช่น คิดว่าตัวเองจะต้องเด่น ต้องดี ต้องสำคัญกว่าผู้อื่น
การคิดแต่เรื่องของตัวเองจะทำให้เราไม่มีความสุขเลย
เพราะไม่ว่าเราจะคิดอะไร ทำอะไรหรือไปที่ไหน
จะต้องตกอยู่ในภาวะของการแข่งขันตลอดเวลา
11. การยอมรับสภาพของตัวเองโดยไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น
เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เราเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจว่า
ทำไมเราจึงไม่โชคดีอย่างคนอื่น แต่เราอาจไม่ทราบว่า
คนอื่นเขาก็มีความทุกข์เหมือนกัน


12. การยึดคติว่า จะเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
การทำสิ่งใดให้ใครโดยหวังผลตอบแทน
ย่อมจะทำให้ผิดหวังได้มากเพราะมัวแต่กังวลอยู่ว่าเราจะได้รับอะไรเป็นการตอบแทนหรือไม่
มากน้อยเพียงใด
เมื่อไม่ได้รับตามที่ตนคาดหวังก็จะผิดหวังทำให้ไม่มีความสุข
คิดว่าตนได้รับความอยุติธรรมอยู่เสมอ
13. การหาเพื่อนสนิทสักคนหนึ่ง
หรือใครก็ได้ที่สามารถระบายความทุกข์และปรึกษาหารือได้

เพราะการมีเพื่อนจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวในโลก
14. จงปล่อยให้เหตุการณ์บางอย่างผ่านไปตามแนวทางของมัน
อย่าไปฝืนหรือเอาจริงเอาจังเกินไป
เมื่อทำอะไรไม่สำเร็จก็เกิดอารมณ์ตึงเครียด จงหยุดพักเสียระยะหนึ่ง
แล้วค่อยหันกลับมาทำใหม่ หรือเปลี่ยนแนวทางการกระทำเสียใหม่
15. จงตระหนักว่า เวลาเป็นยารักษาความเจ็บปวด เมื่อพลาดหวังหรือผิดหวัง
จงอดทนและมีความหวังต่อไป
ไม่ควรใช้วิธีถอยหนีหรือหลีกเลี่ยงปัญหาโดยการทำลายตัวเองต้องนึกไว้เสมอว่า
ถ้าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ก็ตาม ความเจ็บปวดต่าง ๆ จะค่อย
ๆ ลดน้อยลงและหายไปในที่สุด
16. อย่าปล่อยให้เวลาว่างไปวันหนึ่ง ๆ โดยไม่ทำอะไร
การปล่อยให้เวลาว่าง จะทำให้คิดฟุ้งซ่าน
ต้องพยายามหางานอดิเรกที่ตนสนใจทำ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา
อ่านหนังสือ ฯลฯ โดยเฉพาะงานอดิเรกที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ
จะช่วยบำรุงจิตใจให้ชีวิตมีความสุขสดชื่น และมีความสงบ
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอแนะ
หรือแนวทางในการปฏิบัติตนอย่างกว้าง ๆ
การที่จะดำรงชีวิตอยู่ให้มีความสุขเพียงใดขึ้นอยู่กับบุคคลว่า
จะนำหลักการหรือแนวทางไปดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับตนแค่ไหน
เพียงใด และจริงจังหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญ

3. การปฏิบัติตนเมื่อมีอารมณ์เครียด
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะทำให้ชีวิตของคนเรามีความสุข คือ
"การรู้จักปฏิบัติตนเมื่อมีอารมณ์เครียด"
ธรรมดาคนเราย่อมตกเป็นทาสอารมณ์ของตนไม่มากก็น้อย
เมื่อตกเป็นทาสอารมณ์สิ่งที่ตามมาก็คือ ความผิดหวัง ความท้อแท้
และที่ร้ายยิ่งก็คือ ความทอดอาลัยตายอยากต่อชีวิตหมดศรัทธาในตนเอง
และหมดศรัทธาในทุกสิ่งทุกอย่าง
เมื่อเราไม่สามารถหลีกหนีความเครียด อารมณ์ที่หม่นหมอง
หรือความไม่สบายใจได้
ก็จำเป็นที่จะต้องรู้วิธีแก้ไขเมื่อเกิดอารมณ์เช่นนี้กับตนเอง
โดยปฏิบัติตามหลักการ ดังนี้
1. พยายามเตือนตนเอง พิจารณาเหตุผลที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ
แล้วเลิกคิดเสีย เพื่อจะได้ตัดทอนอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ
มีสติที่จะมองเหตุการณ์ได้ถูกต้องตรงความเป็นจริง
และหาวิธีแก้ปัญหาของตนได้ดีขึ้น
2. ในชีวิตประจำวันต้องเป็นคนดำเนินชีวิตอยู่เพื่อความดี
คนที่มีอุดมคติว่า เงิน ชื่อเสียง อำนาจ และความสุขสำราญ
สำคัญเหนือสิ่งทั้งหมด คนพวกนี้จะตกเป็นทาสอารมณ์ได้ง่ายที่สุด
แต่ถ้าผู้ใดยึดหลักพุทธศาสนา 3 ประการ คือ ทำความดี ละความชั่ว
และทำใจให้บริสุทธิ์ ชีวิตของผู้นั้นจะสะอาด หมดจด : จิตใจสบายขึ้น
3. การมองคนในแง่ดีเสมอ ไม่เอาความชั่วมาลบล้างความดีที่เขามีอยู่
4. ก่อนที่จะทำอะไรลงไป ต้องนึกถึงเหตุผลทุกครั้ง
อย่าทำอะไรเอาแต่ใจตน หรือทำแต่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว
หัดเป็นคนรู้จักฟังความคิดของคนอื่นบ้าง เป็นคนใจกว้าง
หรืออดทนต่อข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้
5. จงดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยืดหยุ่น หมายความว่า
รู้จักปรับตัวให้เข้าได้กับทุกสถานการณ์ให้คิดว่าทางเดินที่จะไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นมีได้หลายทาง
จงอย่าคิดที่จะเดินทางเดียวโดยเด็ดขาดควรจะขยับขยายได้บ้าง
6. พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดความไม่สบอารมณ์
และอย่าทำตนเป็นยอดมนุษย์ที่จะแสวงหาความสุขสมบูรณ์พร้อม
เพราะไม่มีใครเก่งพร้อมทุกอย่าง
7. พยายามระงับความโกรธ ความโมโหฉุนเฉียวลงด้วยเวลาอันรวดเร็วที่สุด
เพราะความโกรธนั้นหากมีอยู่ในบุคคลใดและเวลาใดแล้ว
จะทำให้บุคคลนั้นมีแต่ความคิดที่มืดมน หาทางออกที่ไม่ดี
อันจะทำให้รู้สึกเสียใจในภาคหลังได้
อย่าลืมว่าความเครียด ความไม่สบายใจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทางใจ
จะแก้ได้ก็ด้วยใจเท่านั้น
ดังนั้นขอให้ใช้กำลังใจหรืออำนาจใจแก้ปัญหาใจของตนเอง
จึงจะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพกายทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
มีอายุยืน มีความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นยอดปรารถนาของทุกคน

4. วิธีสร้างกำลังใจให้ตนเอง
"กำลังใจ" เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน
เมื่อบุคคลได้ลงมือทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องตั้งความหวังไว้เสมอ
เว้นไว้แต่ว่าความหวังนั้นจะสมหวังหรือไม่ ช้าหรือเร็ว
ไม่มีผู้ใดเลยเมื่อทำเหตุแล้วจะไม่หวังผล
แต่ถ้าตั้งความหวังเอาไว้สูงเกิดเหตุ ก็จะไม่สมหวัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมดกำลังใจ และถ้าคนหมดกำลังใจเสียแล้ว
ก็ได้ชื่อว่าหมดทุกอย่าง เรามักได้ยินคนพูดเสมอว่าหมดกำลังใจ
ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรเลย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อบุคคล
สาเหตุที่ทำให้มนุษย์เกิดความทุกข์ หรือหมดกำลังใจ มีดังต่อไปนี้
1. สิ่งนั้นทำให้อับอายขายหน้า
2. เมื่อต้องอยู่ในสภาพที่เทียบกับผู้อื่นไม่ได้
3. มีอุปสรรคหรือสถานการณ์ที่ทำให้โกรธ
4. เห็นผู้อื่นมีอำนาจ มีอิสระเสรีมากกว่าตน
5. เมื่อมีคำพูดพาดพิงมาถึงตน และคำพูดนั้นเข้าใจตนผิดจากความเป็นจริง
6. เมื่อต้องสูญเสียสิทธิ อำนาจ หน้าที่การงาน
ที่ตนเองเข้าใจว่าเป็นของตนมานานแล้ว
7. ถูกละเลยไม่ได้รับการเอาใจใส่จากเพื่อนฝูงหรือหัวหน้างาน
เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลมีความปรารถนาที่จะได้กำลังใจ ซึ่งมีอยู่ 2 ทาง คือ
1. ได้จากคนอื่น
2. ได้จากตัวเราเอง
ทั้งสองอย่างนี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
และมีความสำคัญมากในการต่อสู้ชีวิต
เพราะทุกคนต่างปรารถนาที่จะมีแต่ความสุขเท่านั้น
1. กำลังใจที่ได้จากคนอื่น
บุคคลที่สมควรจะเป็นกำลังใจให้เราได้ก็คือ บิดา มารดา ครู
อาจารย์ ผู้ใหญ่ หรือบุคคลที่เรารัก เคารพ และไว้วางใจ
คนที่มีความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน
ย่อมมีความต้องการที่จะเห็นคนที่ตนรักมีความสุข ความเจริญ
ดังนั้นเราควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นกำลังใจต่อกัน
โลกก็จะอยู่อย่างเป็นสุข มีแต่ความสงบเสมอ
2. กำลังใจที่ได้จากตัวเราเอง
บุคคลที่กล่าวมาข้างต้นนั้นแม้ว่าจะให้กำลังใจเราดีก็ตาม
แต่ไม่สำคัญเท่าตัวเราเอง
เพราะว่าการที่เราจะได้กำลังใจในการทำงานแต่ละครั้งที่จะสำเร็จได้หาใช่กำลังใจภายนอกเท่านั้น
กำลังใจที่สำคัญที่สุดก็คือ "ตัวของเราเอง"
ถ้าเราไม่อบรมตัวเราและทำจิตใจให้เข้มแข็งแล้ว
งานทุกอย่างก็ไม่มีทางสำเร็จได้
ฉะนั้นเราทุกคนควรสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้น
เมื่อเกิดความท้อใจขึ้นมาเมื่อใดต้องคิดว่า
"การเดินทางย่อมสิ้นสุดเมื่อถึงที่หมาย" พยายามสร้างความหวังให้แก่ตนเอง
การทำอะไรต้องมีความหวังไว้เสมอเพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเองที่จะให้สำเร็จผลได้
แต่อย่าตั้งความหวังไว้สูงเกินไป เพื่อจะได้ไม่เสียใจภายหลัง
วิธีสร้างกำลังใจให้ตนเองอย่างง่าย ๆ มีดังต่อไปนี้ คือ
1. ไม่ท้อแท้ต่อชาติกำเนิด แม้จะอยู่ในตระกูลที่ยากจน
2. อย่าอยู่นิ่งเฉย จะรีบลงมือหาทางทำงานหรือต่อสู้ต่อไป
3. เป็นคนใจแข็ง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคต่าง ๆ
4. คิดหาทางแก้ไขตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม
5. ข้อสำคัญอย่าทิ้งข้อเสียเปรียบไว้ โดยไม่ได้ถามตนเองหรือคิดปรับปรุงตนเอง
ลักษณะของผู้ที่มีกำลังใจดี มีดังต่อไปนี้ คือ
1. นึกถึงกฎของกรรมที่ว่า "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว"
2. มองโลกในทางเป็นจริง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
3. สร้างความหวังให้แก่ตนเอง
4. ไม่อยู่ตามบุญตามกรรม
5. ใช้ความอดทน ความเพียรพยายามให้สุดความสามารถ ยึดภาษิตที่ว่า
"ลองอีกครั้งหนึ่ง"
เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ตนเอง
ถ้าบุคคลต้องการความสมหวังในชีวิต ควรสร้างสิ่งต่าง ๆ
ดังกล่าวให้เกิดขึ้นแก่ตน บางคนอาจยังไม่เห็นถึงความสำคัญ
แต่เมื่อไหร่ถ้าเราเกิดความทุกข์ เราจะพบว่า "กำลังใจ"
เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

5. วิธีการแก้ไขความขัดแย้ง
ปัญหาความขัดแย้งเป็นของคู่โลก ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความแตกต่างกันอยู่
แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งให้ลดน้อยลงไปได้
การสร้างความเข้าใจในสาเหตุและกระบวนการของการเกิดปัญหาความขัดแย้ง
ตลอดจนแสวงหาความรู้หรือวิธีการใหม่ ๆ อาจช่วยป้องกัน ขจัด หรือ
ลดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้บ้าง
คำว่า "ความขัดแย้ง (conflict)" เป็นคำที่มีความหมายและใช้กันมาก
โดยทั่วไปหมายถึงสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลเมื่อมีความคิดเห็นหรือความต้องการแตกต่างกัน
โดยที่คู่กรณีไม่สามารถจะตัดสินใจหรือตกลงหาข้อยุติอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
ความขัดแย้งแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ความขัดแย้งต่อตนเอง :
ทางจิตวิทยาถือเป็นความล้มเหลวของกลไกขั้นพื้นฐานของการตัดสินใจซึ่งบุคคลแต่ละคนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันในการเลือกกระทำการต่าง
ๆ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลจะต้องตัดสินปัญหา เช่น
ต้องการซื้อรถหรือจะเอาเงินมาปลูกบ้าน อยากมีแฟนแต่กลัวเรียนไม่จบ
อยากไปเที่ยวแต่กลัวทำงานส่งอาจารย์ไม่ทัน เป็นต้น
2. ความขัดแย้งภายในกลุ่ม :
เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากบุคคลมีความต้องการ ความคิดเห็น
ทัศนคติ และค่านิยมไม่เหมือนกัน
อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่ม
3. ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม :
เป็นความขัดแย้งที่แต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่แต่ละกลุ่มจะต้องรักษาผลประโยชน์ไว้ให้กับกลุ่มของตนเอง
ยุทธวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
โดยทั่วไปแล้วคนทุกคน
มักจะประสบกับความขัดแย้งไม่ประเภทใดก็ประเภทหนึ่งอยู่เสมอ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ
เมื่อบุคคลประสบปัญหาความขัดแย้งแล้วแก้ไขด้วยวิธีใด
ในเรื่องนี้ได้มีผู้ศึกษาและรวบรวมยุทธวิธีแล้วนำมาจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
1. วิธีปฏิเสธหรือถอนตัวจากปัญหาความขัดแย้ง คือทำไม่รู้ไม่ชี้
ไม่ยอมรับปัญหานั้น ปล่อยให้เรื่องดำเนินไปเองแล้วแต่สถานการณ์จะพาไป
2. วิธีกลบเกลื่อนปัญหา คือ
พยายามหาทางกลบเกลื่อนไม่ให้ปัญหานั้นโผล่ขึ้นมาอย่างชัดเจน
เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง
3. วิธีใช้อำนาจในการแก้ปัญหา ได้แก่การใช้อำนาจของตนเข้าไปแก้ปัญหานั้นโดยตรง
4. วิธีใช้การประนีประนอม หรือเจรจาตกลงในการแก้ปัญหา
กล่าวคือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พยายามแก้ไขหรือลดความขัดแย้ง
โดยการพยายามประนีประนอมขอร้องหรือเจรจาตกลงกับอีกฝ่ายหนึ่ง
5. วิธีร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาความขัดแย้ง ได้แก่
การที่ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันและช่วยเหลือกันแก้ปัญหา
เพื่อให้ความขัดแย้งนั้นหมดไป
ยุทธวิธีทั้ง 5
ประการข้างต้นเป็นวิธีการที่บุคคลทั่วไปมักใช้กันอยู่เสมอซึ่งจะเห็นว่าวิธีที่
1 และวิธีที่ 2 คือการหนีหรือกลบเกลื่อนปัญหา
ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาความขัดแย้งนั้นหมดไป
เพียงแต่ชะลอไม่ให้ปัญหาความขัดแย้งเป็นจุดเด่นขึ้นมา
ความขัดแย้งนั้นอาจจะระเบิดขึ้นมาอีกก็ได้ สำหรับวิธีที่ 3
คือการใช้อำนาจ อาจเป็นวิธีที่ได้ผล
คู่กรณีอาจจำเป็นต้องยอมจำนนเพราะอำนาจ
แต่ความขัดแย้งภายในใจจะยังมีอยู่ ซึ่งอาจจะเกิดเป็นปัญหาในภายหลังได้
วิธีที่ 4 นับเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง
แต่ถึงกระนั้นก็ตามการเจรจาก็ย่อมหมายความว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมด้วยเงื่อนไข
แต่อาจเกิดความไม่พอใจเคลือบแฝงอยู่ ดังนั้นวิธีที่ 5 คือวิธีที่ทั้ง
2 ฝ่ายหันหน้าเข้าช่วยกันแก้ปัญหาโดยต่างก็คำนึงถึงความต้องการของกันและกัน
จึงนับเป็นวิธีที่ดีที่สุดใน 5 วิธีนี้
เพราะเป็นวิธีการที่ได้มาจากความพึงพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันน้อยเพราะยากแก่การปฏิบัติเนื่องจากจะหาคู่กรณีที่มีความเข้าใจกันและกัน
และพร้อมที่จะหันหน้าเข้าหากันได้ยาก
นอกจากยุทธวิธีดังกล่าวแล้ว
ยังมีวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 วิธีใหญ่ ๆ
โดยมองในแง่ของผลที่คู่กรณีจะได้รับในการแก้ปัญหา ยุทธวิธีดังกล่าวคือ
1. ยุทธวิธีแบบแพ้ - ชนะ
การแก้ปัญหาความขัดแย้งวิธีนี้
คือการที่ต่างฝ่ายต่างจะเอาชนะกันและกัน
เพื่อให้ฝ่ายตนประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหวังเอาไว้
การแก้ปัญหาแบบนี้มักจะยุติลงตรงที่ว่า
ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายแพ้
อย่างไรก็ตามผลมักจะปรากฏอยู่ว่า ในกรณีแพ้-ชนะนี้ "ผู้แพ้"
มักจะไม่ค่อยยอมรับในความเป็นผู้แพ้ของตน บางกรณีถึงกับเคียดแค้น อาฆาต
พยาบาทและหาทาง "แก้แค้น" ในโอกาสต่อไป
2. ยุทธวิธีแบบแพ้ - แพ้
การแก้ปัญหาความขัดแย้งวิธีนี้คือการที่ทั้ง 2
ฝ่ายต่างก็ไม่ได้ตามที่ตนต้องการ
หรือแต่ละฝ่ายได้ส่วนที่ตนเองต้องการกันข้างละนิด
การแก้ปัญหาแบบนี้มักจะใช้วิธีออมชอมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างถือคติที่ว่า
"ได้ครึ่งหนึ่งยังดีกว่าไม่ได้เลย" หรือไม่ก็อาจหาคนกลางช่วยตัดสินใจ
3. ยุทธวิธีแบบชนะ - ชนะ
การแก้ปัญหาความขัดแย้งวิธีนี้ คือการที่ทั้ง 2 ฝ่าย
ต่างก็ได้ตามจุดประสงค์ที่ตนเองต้องการ โดยวิธีร่วมมือกันแก้ปัญหา
และพยายามหาวิธีการที่จะสามารถช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่าย
ได้บรรลุผลสำเร็จตามที่ตนเองต้องการ
ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้ผลสำเร็จจะได้แก่ทั้ง 2
ฝ่ายไม่มีฝ่ายใดแพ้ฝ่ายใดชนะ
จากยุทธวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง 3 แบบดังกล่าวมาแล้วจะเห็นว่า
แบบของการแก้ปัญหาที่มักจะใช้หรือพบกันบ่อย ๆ คือ แบบแพ้ - ชนะ
และแบบแพ้ - แพ้
แต่จากผลของการทดลองและวิจัยค้นคว้าในยุคใหม่ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ให้ความเห็นและยืนยันว่าแบบชนะ
- ชนะ เป็นวิธีการที่ดีที่สุดและให้ผลดีกว่าในระยะยาว

บทสรุป
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ฉะนั้นการอยู่ร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญมากและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างที่สุด
ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ส่วนมากที่เกิดขึ้นประจำนั้น
มีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจกันของมนุษย์นั่นเอง
ความสุขอันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์เรา
ก็คือความสุขอันเกิดจากความสามารถที่จะเข้ากันได้หรือทำตัวให้เข้ากันได้
และมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น