2554-07-17

วิชา Drawing กับชีวิตการทำงานจริงของวิศวกร (คนหนึ่ง)

วิชา Drawing กับชีวิตการทำงานจริงของวิศวกร (คนหนึ่ง)
เมื่อพูดถึงวิชาเขียนแบบทางวิศวกรรมหรือที่พวกเรามักจะพูดกันติดปากว่าวิชา
Drawing นั้น หลายคนคงจะนึกถึงวิชาที่เราต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการจินตนาการรูป
3 มิติ เพื่อเขียนเป็นภาพ 2 มิติ ในวิวต่าง ๆ แล้วเขียนลงในกระดาษ
หรืออาจเป็นการอ่านภาพ 2 มิติแล้วสามารถคิดหรือนึกภาพ 3 มิติได้
นอกจากนี้ยังต้องใช้ความสามารถด้านศิลปะซึ่งเป็นสิ่งที่ชาววิศวะฯ
อย่างพวกเราไม่ค่อยจะมีกันสักเท่าไหร่
บวกกับการทำงานที่ต้องสะอาดและเรียบร้อย (หรือที่ภาษาพูดเรียกว่า
เนี๊ยบสุดๆ) ซึ่งแทบจะหาไม่ได้เลยในหมู่ผู้ชายซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของคณะฯ
เรา ด้วยเหตุนี้เองคงทำให้น้อง ๆ หรือแม้แต่เพื่อน ๆ
ของผู้เขียนเองหลายคนไม่ชอบเรียนวิชานี้กันสักเท่าไหร่
และหลายคนถึงกับบอกว่าชีวิตนี้อย่าต้องมาเจอกับสิ่งนี้อีกเลย
ยิ่งไปกว่านั้นวิชานี้มีจำนวนหน่วยกิตเพียงแค่ 2 หน่วยกิต
ก็เลยยิ่งทำให้หลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวิชานี้มากนัก
แต่พอเรียนจบและเริ่มทำงานเป็นวิศวกรแล้ว Drawing
กลับกลายเป็นสิ่งที่เราต้องเกี่ยวข้องและใช้งานมากที่สุดเมื่อเทียบกับความรู้พื้นฐานอื่นๆ
ที่ผู้เขียนได้เรียนมาตลอด 4 ปีในคณะวิศวกรรมศาสตร์เสียอีก
ผู้เขียนจึงถือโอกาสนี้เขียนถ่ายทอดประสบการณ์ว่าในการทำงานจริงนั้น
Drawing เกี่ยวข้องกับการทำงานของวิศวกรอย่างไรบ้าง
และความรู้ที่ได้เรียนมาตอนปี 1 และปี 2 (เฉพาะภาคเครื่องกล)
นั้นเพียงพอกับการทำงานจริงหรือไม่ อย่างไร
ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวผู้เขียนก่อน
ผู้เขียนเคยเป็นนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล รหัส 473XXXXX21
(เทียบกับรหัสของน้องๆ ที่กำลังอ่านอยู่ ทำให้ผู้เขียนดูแก่ไปเลย)
จบการศึกษาและเข้าทำงานในบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งจนถึงตอนนี้ก็เป็นระยะเวลาประมาณ
1 ปีกว่าๆ แล้ว งานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนา (Research
and Development หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า R&D) ชิ้นส่วนภายในรถยนต์
สำหรับงานประเภทนี้แล้ว
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทุกอย่างถือเป็นข้อมูลลับของบริษัท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Drawing ของชิ้นส่วนต่างๆ
ดังนั้นสิ่งที่ห้ามทำโดยเด็ดขาดคือการนำ Drawing
ไปเผยแพร่ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน
(ถึงแม้จะเป็นวิศวกรบริษัทเดียวกัน
แต่อยู่คนละแผนกและไม่ได้รับผิดชอบงานนั้นโดยตรง) หรือวาง Drawing
ทิ้งไว้ในที่สาธารณะ เพราะว่าใน Drawing
นอกจากจะเขียนบอกขนาดรูปร่างของชิ้นส่วนและการประกอบแล้ว
ในบางครั้งจะมีการระบุวิธีการผลิต ข้อควรระวังในการผลิต วิธีการประกอบ
และคุณสมบัติเฉพาะของชิ้นส่วนนั้นๆ เอาไว้ด้วย
เนื่องจากรถยนต์หนึ่งคันประกอบด้วยชิ้นส่วนจำนวนมาก
จึงนิยมเก็บไฟล์ข้อมูลของชิ้นส่วนต่างๆ ในฐาน ข้อมูลส่วนกลางในรูปของไฟล์
Drawing มากกว่าไฟล์ CAD 3 มิติ
เพราะขนาดไฟล์เล็กกว่าจึงประหยัดเนื้อที่ในฐานข้อมูล
และนำออกมาใช้งานได้สะดวกกว่า ในการศึกษาชิ้นส่วนแต่ละครั้ง
โดยมากจะนำชิ้นส่วนจริงมาศึกษาควบคู่กับการอ่าน Drawing
แต่ในบางครั้งชิ้นส่วนที่เราต้องการศึกษานั้นใช้กับรถยนต์ที่ไม่ได้ประกอบในประเทศไทย
หรือเป็นชิ้นส่วนไม่ได้ผลิตที่ประเทศไทย
ดังนั้นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่รวดเร็วที่สุดคือการศึกษารูปร่างลักษณะชิ้นส่วนนั้นจาก
Drawing สิ่งแรกที่ต้องทำได้คือเมื่ออ่าน Drawing
แล้วจะต้องนึกภาพของชิ้นส่วนนั้นอย่างคร่าวๆ ให้ได้เสียก่อน
ถ้าเป็นภาพประกอบหรือ Assembly drawing
ก็ต้องจินตนาการให้ได้ว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นประกอบกันอย่างไร
จากนั้นจึงค่อยมาศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดของชิ้นส่วนนั้นๆ ที่ระบุไว้ใน
Drawing อีกที มาถึงจุดนี้คงจะเริ่มสงสัยกันแล้วว่า วิชา Drawing
ที่เราเรียนมาในมหาวิทยาลัยเพียงพอต่อการทำงานหรือไม่
แน่นอนว่าถ้าเป็นการอ่าน Drawing เพื่อให้ทราบรูปร่าง ขนาดคร่าวๆ วิชา
Drawing ในปี 1 ก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตนั้น
อาจจะต้องทราบวิธีการบอกค่าเผื่อขนาดในการผลิต (Fit & Tolerance)
ความเรียบของผิวชิ้นงาน (Surface roughness)
หรือสัญลักษณ์บอกวิธีการเชื่อม ซึ่งเรียนในวิชา Mechanical Drawing
ของภาคเครื่องกล ปี 2 ด้วย วิธีการบอกขนาดและสัญลักษณ์ต่างๆ ใน Drawing
ที่ผู้เขียนเคยเรียนมากับการทำงานจริงค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน
แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรว่าจะยึดมาตรฐานไหนในการเขียน Drawing
ดังนั้นตอนที่ผู้เขียนเข้าทำงานใหม่ๆ
บริษัทจึงสอนพื้นฐานการเขียนแบบและสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเขียนแบบของบริษัทให้เด็กใหม่ทุกคนอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เข้าใจตรงกัน
เพราะ Drawing ถือได้ว่าเป็นเอกสารอ้างอิงหลักที่ใช้สื่อสารระหว่างผู้ออกแบบกับผู้ผลิต
เวลาตรวจสอบว่าผู้ผลิตผลิตชิ้นส่วนได้ตามที่ต้องการหรือไม่ก็จะยึดตามรูปร่าง
ขนาดที่ระบุใน Drawing เป็นมาตรฐานนั่นเอง
ส่วนการเขียน Drawing ที่เคยเรียนมา สิ่งที่ใช้บ่อยมากคือ
การเขียนภาพด้วยมือเปล่า (Freehand sketching) เวลาที่เราไปดูโรงงานผลิต
เพราะบางครั้งโรงงานไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกถ่ายรูป
ดังนั้นก็เลยต้องอาศัยการวาดรูปคร่าวๆ เพื่อเก็บข้อมูลไปทำรายงาน
แต่ที่ใช้บ่อยที่สุดคือตอนที่คุยปรึกษาเรื่องงานกับหัวหน้าที่เป็นชาวต่างชาติ
ใครวาดรูปสวยและเข้าใจง่ายจะได้เปรียบมาก
ส่วนการวาดด้วยเครื่องมือเขียนแบบอย่างที่ทำงานส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็ได้ใช้บ้างเล็กน้อย
ส่วนการวาดภาพชิ้นงาน 3 มิติด้วยโปรแกรม CAD แล้วแปลงเป็น Drawing นั้น
จะทำตอนที่มีการออกแบบชิ้นงานใหม่ หรือปรับปรุงชิ้นงานที่มีอยู่แล้ว
งานแบบนี้ถ้าเป็นชิ้นส่วนง่ายๆ พวกเราก็ทำเอง ถ้าซับซ้อนมากๆ ก็มีคนเขียน
CAD ประจำแผนกเป็นคนทำให้
แต่สุดท้ายพวกเราต้องเป็นคนกำหนดว่าจะใส่รูปในวิวไหนใน Drawing บ้าง
จะบอกขนาดหรือ Dimension อย่างไรเพื่อให้คนอ่านเข้าใจ Drawing
ได้ง่ายที่สุด อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ต่อให้เรียน Drawing
ได้เกรดเอก็ใช่ว่าจะทำได้ดีเสมอไป
เพราะต้องอาศัยประสบการณ์การทำงานมากทีเดียว
เรื่องที่เล่ามานี้เป็นเพียงแค่ประสบการณ์ของวิศวกรมือใหม่คนหนึ่งเกี่ยวกับ
การนำความรู้ที่เรียนมาจากวิชา Drawing ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง
ในความเป็นจริงงานวิศวกรรมลักษณะอื่นเช่น งานซ่อมบำรุง
งานควบคุมระบบการผลิตก็ต้องการความรู้จากวิชา Drawing
เช่นกันแต่อาจในลักษณะที่ต่างออกไป
อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอรับรองว่าถ้าทำงานด้านวิศวกรรมแล้ว จะต้องมี
Drawing เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานอย่างแน่นอน
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากจะให้น้องๆ
ทุกคนให้ความสำคัญกับวิชานี้และทำความเข้าใจวิชานี้ให้ได้มากที่สุด
ถึงแม้จะเขียน Lettering ไม่สวยงามเท่าที่ควร วาดรูปเส้นไม่ต่อเนื่อง
หรือกระดาษสกปรกจนถูกอาจารย์หักคะแนน
อย่างน้อยก็อยากให้ทุกคนสามารถจินตนาการรูปใน Drawing ให้ออก
เข้าใจความหมายของเส้นและสัญลักษณ์ต่างๆ ได้ก็เพียงพอแล้ว
ภัทรพร สันตินรนนท์
กรกฎาคม, 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น