สัญญา เผ่าพืชพันธุ์
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
ใช้เทคนิคการวิจัยทางดนตรีชาติพันธุ์วิทยา
เพื่อการศึกษาดนตรีในวิถีชีวิตของชาวอูรักลาโว้ย ตำบลเกาะลันตาใหญ่
อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวงรำมะนา
และวงรองแง็ง ศึกษาคุณลักษณะทางดนตรีและศึกษาการใช้งานดนตรีในสังคม
ผลการศึกษาพบว่า วงรำมะนาประกอบด้วย คนขับเพลงหลักและคนขับเพลงรับ
กลองรำมะนา ๘ ใบ กลองทน ๑ คู่ ฉาบ และฉิ่ง โครงสร้างของทำนองส่วนใหญ่
มีทำนองหลัก และเล่นซ้ำทวน แล้วขับร้องด้วยเนื้อร้องที่แตกต่างกันไป
จัดว่าอยู่ในประเภท เพลงร้อยเนื้อทำนองเดียว (Strophic) วงรองแง็ง
ประกอบด้วยคนขับเพลง ไวโอลิน กลองรำมะนา ๒ใบ
ตีจังหวะหลักใบหนึ่งตีขัดใบหนึ่ง ฆ้อง และฉิ่ง
มีการดำเนินทำนองแบบขึ้นลงติดต่อกัน (Undulating Conjunctive motion)
การเคลื่อนทำนองแบบข้ามขั้น (Disjunctive motion)
และการเคลื่อนทำนองแบบขนาน (Parallel motion)
และมีท่ารำประกอบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง
อีกทั้งเนื้อร้องของบทเพลงยังสะท้อนถึงประวัติความเป็นมา
และความหมายของชาวอูรักลาโว้ยด้วย
หน้าที่ของวงรำมะนาในสังคมของชาวอูรักลาโว้ย คือใช้ประกอบพิธีลอยเรือ
"ปาจั๊ก" ทำพิธีโดยการร้องเพลงรำมะนา ในวันขึ้น ๑๔ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
และเดือน ๑๑ ของทุกปี
เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับเรือปาจั๊กและเพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ วงรองแง็ง ทำหน้าที่ในพิธีกรรมแก้เหลย
เพื่อขอความช่วยเหลือจาก "ดาโต๊ะ" ของชาวอูรักลาโว้ย
Abstract
This was a qualitative research by using ethnomusicological research
technique for studying Music in U-Raklavoi's Ways of Life in Ko
Lantayai Sub-District of Ko Lanta District, Krabi Province. The
research aimed to study :1) U-raklavoi's Rebana ensemble and Rongang
music : 2) Music traits and : 3) Functions of music in U-Raklavoi's
society.
The major findings were: The Rebana ensemble consisting of 2 vocalists
alternate their singing to each other, 8 Rebanas, a pair of Ton-drum,
1 lange and 1 small cymbals. The tunes were short and also in a
Tropihic form with the change of song text simultaneously.
The Rongang was cinsisted of a vocalist, violin, 2 pieces of Rebana
(one kept basic beat and another played interlocking strokes),gong and
small cymbals.The melodic contours were conjunctive-undulating
combined with disjunctive motion and also moving in parallel maner.
Rongeng was included distinctive dance movements.The song text also
reflected the history of U-Raklavoi and their life stories as well.
Rebana ensemble function the Pa- Jak boat floating ceremony in the
full moon night of the 6th months annually, in order to destroyed all
evil spirit that were carried out by Pajak boat, as well as to paying
respective to their ancestors and supernatural power. The Rongeng
music was for redeeming their vow to ask for help from Da-Toh.
ชาวอูรักลาโว้ย หรือ ชาวเล เป็นคำในภาษาปักษ์ใต้ ซึ่งย่อมาจากคำว่า
"ชาวทะเล" มีอยู่สองความหมาย อาจหมายถึงคนที่อาศัยอยู่ริมทะเล
ประกอบอาชีพประมง หรือหากินอยู่กับทะเล กับอีกความหมายหนึ่ง
เป็นคำใช้เรียกขานกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเชียน
ซึ่งอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง หรือเดินทางเร่ร่อนตามเกาะแก่งของทะเลอันดามัน
ทางตอนใต้ของประเทศไทย ประกอบด้วยสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมอแกน
กลุ่มมอแกล๊น และกลุ่มอูรักลาโว้ย (อาภรณ์ อุกฤษณ์ ๒๕๓๒: ๗๐)
อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมา เส้นทางอพยพ
และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนสามกลุ่มทั้งในอดีต
และปัจจุบันยังมีอยู่น้อยมาก
ชาวอูรักลาโว้ยจึงมีวัฒนธรรม
และประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอยู่ในปัจจุบัน และในวัฒนธรรมนั้น
มีดนตรีอันเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงได้ศึกษาทางดนตรีชาติพันธุ์วิทยา
(Ethnomusicology) เรื่อง "ดนตรีในวิถีชีวิตชาวอูรักลาโว้ย" ณ
บ้านสังกาอู้ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๐ - ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นระยะเวลา ๒
ปีภายหลังการเกิดมหันตภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ณ
บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันทางภาคใต้ของไทย
การเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่เกาะลันตา มีระยะทางมากกว่า ๘๐๐ กิโลเมตร
โดยใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมมุ่งสู่จังหวัดกระบี่ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย
เกาะลันตาอยู่ห่างออกจากเมืองกระบี่อยู่ทางทิศใต้ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
การเดินทางสู่เกาะลันตาทำได้ด้วยการโดยสารแพขนานยนต์สองช่วง
ซึ่งแพนี้สามารถนำรถทุกชนิดลงไปได้
ช่วงแรกเริ่มจากพื้นแผ่นดินใหญ่สู่เกาะลันตาน้อย
และช่วงที่สองลงแพอีกครั้งสู่เกาะลันตาใหญ่
เมื่อถึงเกาะลันตาใหญ่ต้องเดินทางเข้าหมู่บ้านอีก ๓๐ กิโลเมตร
ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลพอสมควร
หากจะเข้าถึงหมู่บ้านควรใช้รถยนต์ส่วนตัวจะสะดวกมาก
แพขนานยนต์
ชุมชนชาวอูรักลาโว้ยในปัจจุบันปกครองโดยผู้อาวุโส
คือผู้ที่มีความรู้ทางไสยศาสตร์ของชาวอูรักลาโว้ยซึ่งพวกเขาเรียกว่า
"โต๊ะหมอ" จะได้รับการเคารพ นับถือ จากชาวอูรักลาโว้ยด้วยกันเอง
และสิ่งที่ชาวอูรักลาโว้ยนับถืออีกอย่างคือ "ดาโต๊ะ"
ซึ่งหมายถึงบรรพบุรุษของพวกเขาที่ล่วงลับไปแล้ว
ชาวอูรักลาโว้ยเดิมนั้นไม่ได้นับถือศาสนาใด ๆ มาก่อน
แต่ภายหลังสามารถนับถือเพิ่มจากที่นับถือบรรพบุรุษตามความสมัครใจ คือ
ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม
ชาวอูรักลาโว้ยเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพประมงชายฝั่งหรือทำประมงน้ำตื้น
และบางครั้งยังเคยออกจับปลากับเรือประมงขนาดใหญ่
แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องเลิกเพราะไม่เข้าใจระบบการจ้างงาน
หรือบางครั้งยังรับจ้างทำสวนบ้าง
แต่ก็ต้องเลิกเพราะว่าเป็นอาชีพที่ไม่ถนัด เพราะชาวอูรักลาโว้ยเป็นชาวเล
ที่อาศัยอยู่กับทะเลมากกว่าบนบกนั่นเอง
วิถีชาวอูรักลาโว้ย
ชาวอูรักลาโว้ยมีความเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนเองได้อพยพมาจากประเทศมาเลเซีย
คือแหล่งที่ชื่อว่า "ฆุนุงฌึรัย" ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นที่อพยพกันมา
ในปัจจุบันอยู่ในรัฐเคดาห์ หรือไทรบุรีทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
โดยสังเกตจากภาษาพูดของชาวมาเลเซียพบว่ามีลักษณะภาษาพูดที่มีความคล้ายคลึงกันอยู่มาก
เช่น อย่างคำว่า "มะกั๊ด" ซึ่งมีความหมายว่า กินหรือรับประทาน
แต่ในส่วนภาษาพูดของชาวมาเลเซียจะพูดว่า "มะกัน"
ซึ่งมีความหมายเดียวกันว่า กิน เช่นเดียวกัน
มีการออกเสียงคล้ายกันอีกด้วย หรืออย่างชาวมุสลิมที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี
จังหวัดชายแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย จะพูดว่า "มะแก" ซึ่งแปลว่า "กิน"
ยังออกเสียงคล้ายกัน คือมีการเปลี่ยนสระ
แต่พยัญชนะเหมือนกันและความหมายยังเป็นเช่นเดียวกันอีกด้วย
สำหรับชาวอินโดนีเซียนั้น
พบว่าภาษาพูดแทบไม่มีความคล้ายคลึงกันแม้แต่น้อย
ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวอูรักลาโว้ยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทะเล
เช่นพิธีกรรมลอยเรือ"ปาจั๊ก" มีการทำพิธีโดยการร้องเพลงรำมะนา ในช่วงขึ้น
๑๕ ค่ำเดือน ๖ และเดือน ๑๑ ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี
เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับเรือปาจั๊ก
และการขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวอูรักลาโว้ย และมีวัฒนธรรมการต่อเรือ
โดยนำไม้ระกำ ซึ่งเป็นไม้ที่ชาวอูรักลาโว้ยนับถือมากว่า
ห้ามทำเป็นไม้เรียวตีเด็กและห้ามเดินข้าม
จึงถือว่าไม้ระกำนี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก จึงนำมาต่อเป็นเรือปาจั๊ก
มีวัตถุประสงค์เพื่อการขอขมาเทือกเขาที่เรียกว่า "ฆูนุงฌึรัย"
เป็นถิ่นที่อพยพมาจากรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน
เพื่อการสะเดาะเคราะห์ของหมู่บ้าน ซึ่งในพิธีกรรมจะมีวงรำมะนา
ชาวอูรักลาโว้ยมีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของ "ดาโต๊ะ"
ศาลดาโต๊ะ ชาวอูรักลาโว้ย
วงรำมะนาของชาวอูรักลาโว้ยประกอบด้วย คนขับเพลงที่มีคนขับเพลงหลักหนึ่งคน
และคนขับเพลงรับ ซึ่งไม่จำกัดจำนวนคน กลองรำมะนาจำนวน ๘ ใบ กลองทน ๑ คู่
ฉาบ ๑ คู่ และฉิ่ง ๑ คู่ แต่ในอดีตฉาบและฉิ่งนั้นยังไม่ได้มีการนำมาใช้
เพิ่งจะมีการนำมาใช้ภายหลังไม่นานมานี้
โดยได้รับจากอิทธิพลจากภายนอกและเป็นที่ยอมรับจากชาวอูรักลาโว้ยด้วยกันเองว่า
หากมีฉาบและฉิ่งจะทำให้ดนตรีมีอรรถรสมากขึ้น บทเพลงนำมาประกอบพิธีกรรม
เช่น เพลงโล่งโป้ง เพลงตะรีบานัง เพลงก่อยกึ่นนัง
เป็นบทเพลงที่ต้องมีในช่วงแรกและตามด้วยบทเพลงรำมะนาอื่น ๆ อะไรก็ได้
ซึ่งขณะที่กำลังร้องเพลงรำมะนา ชาวอูรักลาโว้ยและชาวหมู่บ้านใกล้เคียง
ออกมาเต้นรำรอบ ๆ เรือปาจั๊กอีกด้วย
โครงสร้างของทำนองบทเพลงวงรำมะนาส่วนใหญ่
พบว่ามีทำนองหลักที่มาจากเสียงร้องจากชาวอูรักลาโว้ย
และการเล่นซ้ำทวนทำนองเดิม แล้วขับร้องด้วยเนื้อร้องที่แตกต่างกันไป
จัดว่าอยู่ในประเภท เพลงร้อยเนื้อทำนองเดียว (Strophic)
ชาวอูรักลาโว้ยบอกกล่าวศาลโต๊ะกรามาต เพื่อที่จะทำพิธีลอยเรือ
การลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ยนั้นก่อนทำพิธีลอยเรือ ๒ วัน
ชาวอูรักลาโว้ยจะไปทำพิธีบอกกล่าวศาลโต๊ะกรามาต
ที่ตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลหมู่บ้านหัวแหลม ๑
ซึ่งห่างจากหมู่บ้านสังกาอู้ประมาณ ๕ กิโลเมตร
โดยชาวอูรักลาโว้ยนำข้าวปลาอาหาร มาถวายแก่ศาลดาโต๊ะและทำพิธีบอกกล่าว
โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้นำทำพิธี จนเมื่อทำพิธีต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ชาวอูรักลาโว้ยจึงนำอาหารที่ถวายและอาหารที่นำมาออกมาแบ่งปันกันรับประทานด้วยกัน
และในระหว่างการรับประทานอาหารนั้น ก็จะมีการพบปะพูดคุยเรื่องอันเป็นมงคล
และสนุกสนานกันไปตลอด
เช้าวันถัดมาขึ้น ๑๔ ค่ำ ชาวอูรักลาโว้ยจะออกไปตัดไม้ระกำ
ในป่าใกล้ๆหมู่บ้าน เพื่อนำมาเป็นวัสดุในการต่อเรือปาจั๊ก
เมื่อได้ไม้ระกำมาแล้ว
จึงเริ่มทำการต่อเรือในตอนเย็นจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดไป
และในขณะมีการต่อเรือนั้นก็จะมีการพบปะพูดคุย และดื่มสุรา
เพื่อความสนุกสนานครึกครื้นไปด้วย
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ในเวลาประมาณบ่ายสามโมง
ชาวอูรักลาโว้ยจะนำเรือปาจั๊กแห่ไปตามท้องถนนจากหมู่บ้านสังกาอู้จนไปถึงหมู่บ้านหัวแหลม
๑ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย
โดยการแห่เรือนั้นมีการร้องเพลงรำมะนา ไปตลอดระยะทางกว่า ๕ กิโลเมตร
ซึ่งทำให้มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
จนลืมความเหนื่อยล้าไปตลอดเส้นทาง จนถึงบริเวณประกอบพิธี
ชาวอูรักลาโว้ยจะนำเรือปาจั๊กไปวางเตรียมไว้
แล้วพักผ่อนรอเวลาทำพิธีในช่วงค่ำอันเป็นเวลาของการทำพิธี
โดยวงรำมะนาเป็นวงที่ใช้ประกอบพิธีลอยเรือนี้
การแห่เรือ"ปาจั๊ก" และวงรำมะนำ
วงรำมะนาจะดำเนินการร้องไปตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าของวันถัดมา
ซึ่งเป็นวันลอยเรือ เมื่อได้เวลาประมาณ ๖.๐๐ น.
ชาวอูรักลาโว้ยจะมารวมกันอีกครั้งเพื่อทำพิธี
โดยการนำข้าวตอกมาลูบตามร่างกาย
เชื่อว่าเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว แล้วนำไปทิ้งไว้ในเรือปาจั๊ก
พร้อมกับนำอาหารต่าง ๆ ใส่ลงไปในเรือ
ซึ่งเชื่อว่านำไปมอบให้กับบรรพบุรุษของชาวอูรักลาโว้ยในดินแดน
"ฆุนุงฌึรัย" นั้นเอง เมื่อเรือถูกนำไปลอยทะเล
วงรำมะนาก็เริ่มร้องเพลงลาจัง
ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้ขณะนำเรือไปลอยเท่านั้น
เมื่อลอยเรือแล้วเป็นอันเสร็จพิธีในภาคเช้า
การตัดไม้พังแล เพื่อใช้ในพิธี "กายูดาฮั๊ก"
ต่อมาในเวลาบ่ายชาวอูรักลาโว้ยไปตัดไม้พังแล เพื่อทำพิธี "กายูดาฮั๊ก"
เพื่อทำเป็นไม้กันผี
เชื่อว่าจะป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้กลับมาแก่หมู่บ้านของตน
มีการขับเพลงด้วยวงรำมะนาไปตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้าเหมือนกับการทำพิธีลอยเรือในคืนแรก
ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีลอยเรือ
เครื่องดนตรีประกอบพิธีลอยเรือ
ในพิธีลอยเรือประกอบด้วยเครื่องดนตรีและคนขับเพลงต่างๆดังต่อไปนี้
๑. กลองรำมะนา ซึ่งเป็นกลองที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอก
มีหน้ากลองด้านเดียวทำด้วยหนังแพะ เส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ ๑๕-๒๐ นิ้ว
ความหนาของกลอง ประมาณ ๕-๖ นิ้ว
กลองรำมะนา
๒. กลองทน กลองทางภาคใต้ที่มีลักษณะคล้ายกลองแขกทางภาคกลาง แต่หน้า
กลองจะลึกเข้าไปในกลองประมาณ ๑ นิ้ว
ส่วนชาวอูรักลาโว้ยแถบอื่นจะใช้กลองสากลที่เรียกว่า กลองรุมบ้า
เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงรำมะนาในพิธีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย
กลองทน
๓. ฆ้อง เป็นฆ้องทองเหลืองขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๕ นิ้ว
ฆ้อง
๔. คนขับเพลง วงรำมะนาจะมีคนขับเพลงที่เป็นคนขับนำ ที่เป็นหลัก ๑-๒ คน
และ คนที่อยู่ในวงที่เหลือจะเป็นคนร้องรับไม่จำกัดจำนวนคน
คนขับเพลง
วงรำมะนาเป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแก้บนเช่นกัน
เครื่องดนตรีได้แก่ ฆ้อง ฉาบ และคนขับเพลง
ส่วนวงรองแง็งของชาวอูรักลาโว้ยบางครั้งมีฉิ่งและฉาบ
แต่แบบโบราณในสมัยก่อนจะไม่มีเครื่องดนตรีประเภทฉิ่งและฉาบ
สาเหตุที่มีฉิ่งและฉาบ
เพราะช่วยเพิ่มอรรถรสให้ดนตรีมีความสนุกสนานมากขึ้น
และได้รับอิทธิพลมาจากบุคคลภาย-นอกวัฒนธรรม
ส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น
เชือกที่เป็นอุปกรณ์สำหรับขึงหนังกลองเป็นเชือกชนิดเดียวที่เอาไปใช้ในอวนลอยในการทำประมง
แต่ก่อนทำด้วยไม้หวาย แต่ไม่นิยมใช้เพราะขาดง่าย
จึงเปลี่ยนมาเป็นเชือกที่ทำมาจากเอ็นแทน จึงไม่ค่อยขาด
แต่สิ่งที่ชำรุดก่อนคือหนังกลองที่ทำจากหนังวัวจะขาดไปเสียก่อน
เครื่องดนตรีชาวอูรักลาโว้ย ได้จำแนกตามระบบของเคอร์ตและฮอร์นบอสเทล
(Curt-Hornbostel Cassification) อ้างในหนังสือ
"ระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยดุริยางค-วิทยา" โดยปัญญา รุ่งเรือง (๒๕๔๖:
๒๘) ดังนี้
๑. ตระกูลเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของมวลวัตถุในตัวเอง (Idiophone)
เครื่อง ดนตรีชาวอูรักลาโว้ยที่เกี่ยวข้องในประเภทตี (Gong) คือ ฆ้อง
เครื่องดนตรีชาวอูรักลาโว้ยที่เกี่ยวข้องในประเภทกระทบ (Concussion) คือ
ฉิ่ง และฉาบ
๒. ตระกูลเสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นหนัง (Membranophone)
เครื่อง- ดนตรีชาวอูรักลาโว้ยที่เกี่ยวข้องในประเภทกลองทรงสะดึง (Frame
drum) คือ กลอง รำมะนา
เครื่องดนตรีชาวอูรักลาโว้ยที่เกี่ยวข้องในประเภททรงกระบอก (Cylinder)
คือกลองทน และมีสื่อสร้างเสียง (Medium) ที่มาจากเสียงของผู้ชาย
พิธีกรรมอีกอย่างของชาวอูรักลาโว้ย คือพิธีกรรมแก้เหลย ของชาวอูรักลาโว้ย
เป็นการแก้บนระหว่างชาวอูรักลาโว้ยกับศาลดาโต๊ะต่าง ๆ
ของชาวอูรักลาโว้ยนั้นเอง ซึ่งเชื่อกันว่าหากมีชาวอูรักลาโว้ยในหมู่บ้าน
ที่เจ็บป่วย ไม่สบาย ชาวอูรักลาโว้ยก็จะไปบนบานกับศาลดาโต๊ะว่า
หากสามารถช่วยรักษาให้หายขาดจากการไม่สบายได้
หรือสามารถช่วยอะไรก็ตามที่ร้องขอไปได้ ก็จะนำ "วงรองแง็ง"
มาแสดงที่ศาลดาโต๊ะ เพื่อเป็นการแก้บนนั้นเอง
วงดนตรีรองแง็งจึงมีหน้าที่ในการแก้เหลย เพื่อขอความช่วยเหลือจาก
"ดาโต๊ะ" ของชาวอูรักลาโว้ย
วงรองแง็ง ชาวอูรักลาโว้ย
วงรองแง็งชาวอูรักลาโว้ย ประกอบด้วยคนขับเพลง ๒ คน มีฝ่ายชายและฝ่ายหญิง
มีเครื่องดนตรี คือ ไวโอลิน จำนวน ๑ ตัว กลองรำมะนาจำนวน ๒ ใบ
ซึ่งลูกหนึ่งตีจังหวะหลัก และอีกลูกหนึ่งตีจังหวะขัด ฆ้อง ๑ ใบ และฉิ่ง ๑
คู่
บทเพลงวงรองแง็งนั้น มีบทเพลงที่ใช้ขับเพลงก็มีมากมาย เช่น เพลงลาฆูดูวา
เพลงลาฆูกาโญะซัมปัน เพลงบูลงปูเต๊ะ เพลงตาแบ๊ะอีเจ๊ะ และเพลงอื่นๆ
แต่เพลงที่จะนำมาบรร- เลงเป็นเพลงแรกๆ คือ เพลงลากูดูวอ เพลงมะอินัง
และเพลงบูลงปูเต๊ะ
ซึ่งถือว่าเป็นบทเพลงไหว้ครูของวงรองแง็งตามแบบฉบับของชาวอูรักลาโว้ยแบบโบราณ
ตังอย่างของบทเพลงรองแง็ง ที่ได้ทำการถอดโน้ตเพื่อการวิเคราะห์
นักดนตรีวงรองแง็งของชาวอูรักลาโว้ย
ยังมีชื่อเรียกในภาษาพูดของชาวอูรักลาโว้ยในตำแหน่งต่าง ๆ อีกด้วย
ดังต่อไปนี้
ชื่อของนักดนตรีในตำแหน่งต่างๆ ในวงรองแง็ง
เป็นภาษาของชาวอูรักลาโว้ย
ภาษาไทย ภาษาชาวอูรักลาโว้ย
คนขับเพลง อูรักแบ๊ะอุรายี่
คนซอ (คนสีไวโอลิน) อูรักอีแซ๊ะอูร่า
คนตีรำมะนา อูรักบารูรามา
คนตีฆ้อง อูรักบารุตาวะ
คนตีกรับ อูรักกระแซ หรือ ปารูกระแซะ
คนตีฉิ่ง ฉิ่ง (เนื่องจากมีขึ้นภายหลังจึง เรียกตามภาษาไทย
หมายเหตุ อูรัก แปลว่า คน
นางรำวงรองแง็ง ชาวอูรักลาโว้ย
ท่ารำต่าง ๆ เป็นท่ารำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบทเพลง เช่น
เพลงลาฆูกาโญะซัมปัน มีท่ารำที่คล้ายกับการพายเรือ
ซึ่งตรงกับความหมายของชื่อเพลงว่า "กาโญะ" ซึ่งมีความหมายว่าการพายเรือ
เป็นต้น
นายหวี ทะเลลึก นายหัววงรองแง็ง
จากการบอกเล่าของ นายหวี ทะเลลึก
คนสีไวโอลินวงรองแง็งและเป็นหัวหน้าวงหรือชาวอูรักลาโว้ยเรียกกันว่า
"นายหัว" ได้เล่าถึงการฝึกหัดไวโอลินรองแง็งว่า
"...ไม่ได้ไปร่ำเรียนมาจากที่ไหน
แต่เมื่อก่อนนั้นไปดูการเล่นไวโอลินจากคนที่ชื่อ สาวฮุ้ย
ที่หมู่บ้านในไร่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ไปดูเป็นประจำ
เมื่อเขามาแก้เหลยก็จะมาเล่นให้ดูบ่อยๆ
จึงได้อาศัยการจดจำแบบครูพักลักจำมาจากคนนั้นมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ..."
วงรองแง็งของชาวอูรักลาโว้ยใช้เฉพาะประกอบพิธีการแก้เหลยเท่านั้น
และไม่นำไปประกอบพิธีกรรมอย่างอื่นเพราะถือว่าไม่เหมาะสม
ส่วนวิธีการแก้บนทำโดยการไปบอกกล่าวกับทวดดาโต๊ะว่าไม่สบาย
ถ้าหายจากอาการเจ็บป่วยแล้ว จึงติดต่อวงรองแง็งมาแสดงให้ชม
เพื่อเป็นการแก้เหลย (แก้บน) และการไปแสดงนอกสถานที่อย่างในโรงแรมนั้น
สามารถเล่นได้เพราะถือว่าไม่ผิดครูแต่อย่างใด
ส่วนการนำมาแสดงภายในบ้านพักอาศัยนั้นกระทำไม่ได้เป็นอันขาด
รวมถึงการไปแสดงนอกหมู่บ้านของตนจะไม่สามารถแสดงได้
เมื่อการแสดงของวงรองแง็งกำลังจะสิ้นสุดลง
บทเพลงสุดท้ายที่ชาวอูรักลาโว้ยนำมาบรรเลงคือ เพลงตาแบ๊ะอีเจ๊ะ
ซึ่งชาวอูรักลาโว้ยถือว่าเป็นเพลงที่ได้บอกกล่าวว่าการแสดงกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว
พร้อมทั้งบอกกล่าวแก่ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
เพื่อขอขมาลาโทษ หากทำสิ่งใดผิดจึงขออภัยมา ณ ที่นี้
เมื่อบทเพลงนี้สิ้นสุดลง หากใครมาขอให้ทำการบรรเลงต่อ จะได้รับการปฏิเสธ
เพราะผู้เล่นถือว่าหากเล่นต่อหลังจากเพลงตาแบ๊ะอีเจ๊ะ
แสดงว่าการที่บอกกล่าวไว้ในเพลงจบไปแล้วนั้นย่อมถือว่าเป็นการโกหกต่อครูบาอาจารย์
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักดนตรีจึงให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก
และเมื่อบรรเลงเพลงนี้จบก็ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีแก้บนและการแสดง
ส่วนในเรื่องของทำนองในบทเพลงรองแง็งนั้น
มีการดำเนินทำนองแบบขึ้นลงแบบตามขั้น (Conjunct motion)
การเคลื่อนทำนองแบบข้ามขั้น (Disjunct motion) และการเคลื่อนทำนองแบบขนาน
(Parallel motion) หน้าที่ในดนตรีของชาวอูรักลาโว้ย
เป็นดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีลอยเรือ และพิธีแก้เหลย
เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ
เนื้อร้องบทเพลงในดนตรีแห่งชาวอูรักลาโว้ย
สามารถสะท้อนถึงประวัติความเป็นมา และความหมายของชาวอูรักลาโว้ยได้
สิ่งที่พบเห็นมากกว่าความเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของชาวอูรักลาโว้ย
อีกอย่างหนึ่งคือ ความสามัคคี
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวอูรักลาโว้ย
ที่ยังคงช่วยกันรักษาความเป็นลูกหลานชาวเลได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยกันต่อเรือ การแห่เรือ
การได้รับความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากชาวมุสลิมหรือชาวไทยพุทธในพื้นที่
เป็นภาพที่สะท้อนในสังคมไทยปัจจุบันที่เรื่องราวแบบนี้ค่อย ๆ
ลดลงไปในสังคมไทย ซึ่งคนไทยเองยังต้องการสังคมแบบนี้ไม่ใช่หรือ
ชาวอูรักลาโว้ยนับได้ว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของตนเองโดยแท้
และดนตรีเหล่านี้มีความสำคัญต่อพวกเขามาก อีกทั้งเนื้อร้องต่าง ๆ
ที่อยู่ในบทเพลงรองแง็งและเพลงวงรำมะนาแห่งวิถีชีวิตชาวอูรักลาโว้ย
ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาและความหมายของชาวอูรักลาโว้ยได้เป็นอย่างดี
บางครั้งการที่ได้รับโอกาสไปแสดงดนตรีเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน
โดยการได้รับเชิญไปทำการแสดงในตัวเมืองจังหวัดกระบี่และที่อื่น ๆ
ซึ่งเป็นผลดีต่อชาวอูรักลาโว้ย ทำให้เป็นที่รู้จักของโลกภายนอกมากขึ้น
โดยการนำเอาดนตรีมาเป็นตัวเชื่อมระหว่างคนในวัฒนธรรมและคนนอกวัฒนธรรมชาวอูรักลาโว้ยนั่นเอง
บรรณานุกรม
ปัญญา รุ่งเรือง. ๒๕๔๖. ระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยดุริยางควิทยา.
เอกสารประกอบ การเรียน ภาควิชาศิลปนิเทศ คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
เยาลักษณ์ ศรีสุกใส. ๒๕๔๕. การเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ
และวัฒนธรรม : ศึกษากรณี ชาวเลสังกาอู้ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่.
วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา,
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สาวิตร์ พงศ์วัชร์. ๒๕๓๘. รองแง็ง: นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้.
วิทยานิพนธ์ศิลป-ศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อาภรณ์ อุกฤษณ์. ๒๕๓๒. พิธีลอยเรือ: ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมชาวเล.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อติพล อนุกูล. ๒๕๕๐. บทเพลงรองเง็งคณะอัสลีมาลา.
วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหา-บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล.
Bruno Nettl and R.M. Stone. 2000. The Garland encyclopedia of world
music. New York: Garland Pub.
Hogan, David W. 1972. ""Men of the Sea: Coastal tribes of South
Thailand's West Coast"." Journal of the Siam Society (60(1)):
205-235
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น