Information Literacy : Essential Skill for Life - long Learners
ปิยะวรรณ ประทุมรัตน์
สารสนเทศเป็นพลังอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม
ผู้ที่ครอบครองสารสนเทศจึงถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสารสนเทศที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์และจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย
ๆทั้งนี้เพราะสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญและจำเป็นต่อบุคคลทั่ว ๆ
ไปในการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้า
และความทันสมัยให้แก่สังคมในสภาพสังคมปัจจุบันนอกจากนี้สารสนเทศยังเป็นปัจจัยพื้นฐาน
สำหรับการเรียนการสอนการค้นคว้าของนักเรียน นักศึกษา ครู - อาจารย์
นักวิจัย สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการ
สารสนเทศเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพและเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ
รวมถึงการใช้สารสนเทศในการป้องกันและ
แก้ไขปัญหา ช่วยในการพัฒนาบุคลากรและสังคม ( รัถพร ซังธาดา . 2539 :
4) การรู้สารสนเทศเป็นข้อกำหนด
พื้นฐานสำหรับการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
การสร้างความรู้ใหม่จำเป็น
สำหรับความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจในอนาคต การรับรู้ตลอดชีวิต
การแก้ไขปัญหาระดับโลกและการปกครอง
ตนเองในด้านการเรียนการสอน
การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาทุกระดับและทุกสภาพการ
เรียนรู้ตลอดชีวิต (Resource -Based Learning) ( สมาน ลอยฟ้า. 2544 : 4 )
การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อความสำเร็จของบุคคลในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การศึกษา การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการศึกษาของบุคคลทุกระดับทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน
การศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัยและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 มีการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
ดังนั้นบทบาทของผู้สอนจึงเปลี่ยนเป็นผู้ให้คำแนะนำชี้แนะโดยอาศัยทรัพยากรเป็นพื้นฐานสำคัญ
2. การดำรงชีวิตประจำวันการรู้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการดำรงชีวิตประจำวัน
เพราะผู้รู้สารสนเทศจะเป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์ประเมินและใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองเมื่อต้องการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. การประกอบอาชีพ
การรู้สารสนเทศมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพราะบุคคลนั้นสามารถแสวงหาสารสนเทศที่มีความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพของตนเอง
4. สังคม เศรษฐกิจและการเมือง
การรู้สารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสังคมในยุคสารสนเทศ (Information
Age) บุคคลจำเป็นต้องรู้สารสนเทศเพื่อปรับตนเองให้เข้ากับสังคมเศรษฐกิจ
และการเมือง เช่น การอยู่ร่วมกันในสังคม การบริหารจัดการ
การดำเนินธุรกิจและการแข่งขัน การบริหารบ้านเมืองของผู้นำประเทศ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่าผู้รู้สารสนเทศ คือ
ผู้ที่มีอำนาจสามารถาชี้วัดความสามารถขององค์กรหรือประเทศชาติได้
ดังนั้นประชากรที่เป็นผู้รู้สารสนเทศจึงถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดของประเทศ
การรู้สารสนเทศเป็นทั้งความรู้ ความสามารถ ทักษะ
และกระบวนการอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนา การเรียนรู้ทุกรูปแบบ
สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association. 2005 :
Online) ได้กำหนดองค์ประกอบของการรู้สารสนเทศไว้ 4 ประการ คือ
1. ความสามารถในการตระหนักว่าเมื่อใดจำเป็นต้องใช้สารสนเทศ ผู้เรียนจะต้องกำหนด
เรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า กำหนดความต้องการสารสนเทศ
ระบุชนิดและรูปแบบที่หลากหลายของแหล่งสารสนเทศที่จะศึกษา เช่น ห้องสมุด
ศูนย์สารสนเทศ พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ บุคคล สถานที่
อินเทอร์เน็ตและรวมทั้งตระหนักถึงค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่ได้รับและทราบขอบเขตของสารสนเทศที่จำเป็น
2. การเข้าถึงสารสนเทศ
ผู้เรียนสามารถเลือกวิธีการค้นคืนสารสนเทศที่เหมาะสม
กำหนดกลยุทธ์การค้นคืนอย่างมีประสิทธิภาพสามารถค้นคืนสารสนเทศออนไลน์หรือสารสนเทศจากบุคคล
โดยใช้วิธีการที่หลากหลายสามารถปรับกลยุทธ์การค้นคืนที่เหมาะสมตามความจำเป็นรวมถึงการตัดตอน
บันทึก และการจัดการสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ
3. การประเมินสารสนเทศ
ผู้เรียนสามารถสรุปแนวคิดสำคัญจากสารสนเทศที่รวบรวม
โดยใช้เกณฑ์การประเมินสารสนเทศและแหล่งสารสนเทศ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ
ความเที่ยงตรง ความถูกต้อง และความทันสมัย
สามารถสังเคราะห์แนวคิดหลักเพื่อสร้างแนวคิดใหม่
เปรียบเทียบความรู้ใหม่กับความรู้เดิมเพื่อพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เพิ่มขึ้น
อะไรคือสิ่งที่ขัดแย้งกัน และอะไรคือสิ่งที่คล้อยตามกัน
4. ความสามารถในการใช้สารสนเทศที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เรียนสามารถใช้สารสนเทศใหม่ผนวกกับสารสนเทศที่มีอยู่ในการวางแผนและสร้างผลงาน
หรือการกระทำตามหัวข้อที่กำหนดทบทวนกระบวนการ พัฒนาการผลิตผลงานของตนเอง
และสามารถสื่อสารหรือเผยแพร่ผลงานของตนเองต่อบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกการที่จะเป็นผู้รู้สารสนเทศดังที่กล่าวข้างต้นทั้ง 4
ประการนั้นผู้เรียนควรมีคุณสมบัติในด้านอื่นๆ ประกอบอีก ได้แก่
1. การรู้ห้องสมุด (Library literacy)
ผู้เรียนต้องรู้ว่าห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมสารสนเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ
ไว้ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปสื่อสิ่งพิมพ์
สื่อโสตทัศน์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รู้วิธีการจัดเก็บสื่อ
รู้จักใช้เครื่องมือช่วยค้นต่าง ๆ
รู้จักกลยุทธ์ในการค้นคืนสารสนเทศแต่ละประเภท รวมทั้งบริการต่างๆ
ของห้องสมุด โดยเฉพาะห้องสมุดของสถาบันการศึกษาที่ผู้เรียนกำลังศึกษาอยู่จะต้องรู้จักอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่างๆดังกล่าวแล้ว
การรู้ห้องสมุดครอบคลุมการรู้แหล่งสารสนเทศอื่นๆ ด้วย
2. การรู้คอมพิวเตอร์ (Computer Literacy)
ผู้เรียนต้องรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เบื้องต้นในเรื่องของฮาร์ดแวร์
ซอฟแวร์ การเชื่อมประสานและการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ เช่น
การพิมพ์เอกสาร การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
การใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร
รวมถึงการรู้ที่ตั้งของแหล่งสารสนเทศ เป็นต้น
3. การรู้เครือข่าย (Network Literacy)
ผู้เรียนต้องรู้ขอบเขตและมีความสามารถในการใช้สารสนเทศทางเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก
สามารถใช้กลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศจากเครือข่าย
และการบูรณาการสารสนเทศจากเครือข่ายกับสารสนเทศจากแหล่งอื่น ๆ
4. การรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เห็น (Visual Literacy)
ผู้เรียนสามารถเข้าใจและแปลความหมาย
สิ่งทีเห็นได้รวมถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การเรียนรู้
การแสดงความคิดเห็น
และสามารถใช้สิ่งที่เห็นนั้นในการทำงานและการดำรงชีวิตประจำวันของตนเองได้
เช่น สัญลักษณ์รายการโทรทัศน์
5. การรู้สื่อ (Media Literacy) ผู้เรียนต้องสามารถเข้าถึง
วิเคราะห์และผลิตสารสนเทศจาก สื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิทยุ
ดนตรี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น
รู้จักเลือกรับสารสนเทศจากสื่อที่แตกต่างกัน
รู้ขอบเขตและการเผยแพร่สารสนเทศของสื่อ
เข้าใจถึงอิทธิพลของสื่อและสามารถพิจารณาตัดสินได้ว่าสื่อนั้นๆ
มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร
6. การรู้สารสนเทศดิจิทัล (Digital Literacy)
ผู้เรียนสามารถเข้าใจและใช้สารสนเทศรูปแบบซึ่งนำเสนอในรูปดิจิทัลผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวอย่างการรู้สารสนเทศดิจิทัล
เช่น สามารถดาวน์โหลดไฟล์
ข้อมูลจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่เข้าถึงในระยะไกลมาใช้ได้
รู้ว่าคุณภาพสารสนเทศที่มาจากเว็บไซต์ต่างๆ
แตกต่างกันรู้ว่าเว็บไซต์น่าเชื่อถือและเว็บไซต์ไม่น่าเชื่อถือ
รู้จักโปรแกรมการค้นหา สามารถสืบค้นโดยใช้การสืบค้นขั้นสูง
รู้เรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองทรัพยากรสารสนเทศบนเว็บไซต์
การอ้างอิงสารสนเทศจากเว็บไชต์ เป็นต้น
7. การมีความรู้ด้านภาษา (Language Literacy)
ผู้เรียนมีความสามารถกำหนดคำสำคัญสำหรับการค้น
ในขั้นตอนการค้นคืนสารสนเทศที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ
การค้นสารสนเทศจากอินเตอร์เน็ต และ
การนำเสนอสารสนเทศที่ค้นมาได้
ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จำเป็นมากที่สุด
เนื่องจากเป็นภาษาสากลและสารสนเทศส่วนใหญ่เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ
8. การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)
ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์
ตัดสินใจเลือกรับสารสนเทศที่นำเสนอไว้หลากหลาย
โดยการพิจารณาทบทวนหาเหตุผล จากสิ่งที่เคยจดจำ คาดการณ์
โดยยังไม่เห็นคล้อยตามสารสนเทศที่นำเสนอเรื่องนั้นๆ
แต่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยความรอบคอบและมีเหตุผลว่าสิ่งใดสำคัญมีสาระก่อนตัดสินใจเชื่อ
จากนั้นจึงดำเนินการแก้ปัญหา
9. การมีจริยธรรมทางสารสนเทศ (Information Ethic)
การสร้างผู้เรียนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
มีความสำคัญและเป็นเป้าหมายหลักของการจัดการศึกษา
เพื่อปลูกฝังผู้เรียนให้รู้จักใช้สารสนเทศโดยชอบธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรมทางสารสนเทศ
เช่น การนำข้อความหรือแนวคิดของผู้อื่นมาใช้ในงานของตนจำเป็นต้องอ้างอิงเจ้าของผลงานเดิม
การไม่นำข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมและจรรยาบรรณของสังคมไปเผยแพร่ เป็นต้น
สารสนเทศยังเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตปัจจุบันในรูปแบบที่หลากหลายซึ่งเป็นสารสนเทศทั้งที่ผ่านการกลั่นกรองเป็นอย่างดีและไม่ได้กลั่นกรอง
ซึ่งทำให้ผู้ใช้สารสนเทศมีข้อคำถามเกี่ยวกับสารสนเทศในหลากหลายประเด็นเช่น
ความถูกต้อง ความเชื่อมั่นและความเที่ยงตรงของสารสนเทศที่ได้รับ
ด้วยเหตุนี้บุคคล
จึงต้องให้ความสนใจและความสนใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารสนเทศให้มากขึ้นกว่าเดิม
ผู้ที่รู้สารสนเทศจะสามารถใช้สารสนเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการงานและชีวิตประจำวันของตนอย่างไร
จะสามารถเลือกสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ที่สุดเมื่อต้องการตัดสินใจ
ส่วนผู้เรียนในคุณลักษณะของผู้รู้สารสนเทศในสภาพสังคมสารสนเทศในปัจจุบัน
ลักษณะการสอนจะต้องได้รับการสอนให้เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Life -
long Learners)
เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีทักษะการคิดวิเคราะห์
ดังนั้นการรู้สารสนเทศจึงเป็นการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้เรียนและผู้สอนใหม่โดยการเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมให้ผู้เรียนให้สามารถทำงานได้ในสังคมที่มีสารสนเทศเป็นศูนย์กลาง
ผู้เรียนจะต้องมีโอกาสในการจัดการสารสนเทศทุก ๆ
ประเภทสามารถนำความรู้และสารสนเทศที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนต่าง
ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนันทา วิทาวุฒิศักดิ์ ( 2545 : 29) กล่าวว่า
ความรู้เปรียบเสมือนราก องค์การแห่งการเรียนรู้คือลำต้น
การสื่อสารและความร่วมมือเปรียบเสมือนใบ
ดอกและผลคือคุณภาพชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ
จากคำกล่าวที่ว่า
"ถ้าเราให้ปลา เขากินอิ่มได้เพียงมื้อเดียว ถ้าเราสอนวิธีหาปลา
เขาจะหารับประทานอาหารได้เองตลอดชีวิต" (Give a man a fish and he
can eat for a day. Teach a man to fish and he can eat
for the rest of his life)
จะเห็นได้ว่าการสอนวิธีการเรียนรู้และการแสวงหาความรู้มีความสำคัญยิ่งกว่าการให้
ความรู้ เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถหาความรู้ใหม่ ๆ
และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ การศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง
จึงมีความสำคัญยิ่งต่อ การเรียนทุกระดับ
เป็นการพัฒนาคนให้เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติในยุคเศรษฐกิจใหม่
ที่เรียกว่า เศรษฐกิจแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge - based
Learning Economy) (น้ำทิพย์ วิภาวิน . 2546 : 1)
การเป็นผู้รู้สารสนเทศถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในอนาคต
เนื่องจากผู้รู้สารสนเทศจะสามารถเตรียมการรับตัวเพื่อการได้รับและใช้สารสนเทศอย่างเหมาะสม
ในทุกสถานการณ์
บรรณานุกรม
คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์. ทักษะการรู้สารสนเทศ.
กรุงเทพฯ :
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2548.
รัถพร ซังธาดา. สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 2.
มหาสารคาม : ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์
และสารสนเทศศาสตร์, 2539.
นันทา วิทาวุฒิศักดิ์. "
เส้นทางการจัดการสารสนเทศสู่การจัดการความรู้," สารสนเทศ. 3(2) ;
กันยายน - ธันวาคม, 2545.
น้ำทิพย์ วิภาวิน. ทักษะการใช้ห้องสมุดยุคใหม่. กรุงเทพ ฯ : เอส อาร์
พริ้นติ้ง, 2546.
สมาน ลอยฟ้า. " การรู้สารสนเทศ : ทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมสารสนเทศ
Information Literacy
: Essential Skill for Information Society," บรรณารักษศาสตร์ มข.
19 (1 ) ; ตุลาคม - ธันวาคม,
2544. หน้า. 1-5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น